รมว.พลังงานเตรียมลงพื้นที่จังหวัดยะลาวันพรุ่งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำโครงการพลังงานเพื่อความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองรับโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ ก่อนเสนอ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรีที่จะลงพื้นที่ปัตตานีสัปดาห์หน้า โดยรูปแบบโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดชัดเจนใน 2-4 สัปดาห์
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตนจะลงพื้นที่จังหวัดยะลาในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค.) เพื่อรวบรวมข้อมูลในพื้นที่จัดทำโครงการพลังงานเพื่อความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) รองรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ โดยเตรียมข้อมูลรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีในสัปดาห์หน้า เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อร่วมกันเดินหน้าโครงการนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมแล้วเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ
ส่วนรูปแบบโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-4 สัปดาห์ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วิสาหกิจชุมชนให้เข้ามามีบทบาทร่วมกันบริหารจัดการทั้งระบบด้านการผลิต สายส่ง สายจำหน่ายและบริการไปถึงประชาชน โดยยืนยันว่าโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์มีวัตถุดิบเพียงพอ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ยืนยันว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 200-250 เมกะวัตต์ เพราะมีวัตถุดิบเศษไม้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ 275 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งแล้ว 50 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเข้าระบบในสิ้นปีนี้ถึงต้นปี 2562 ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะพร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟในพื้นที่ใน 10 ปีข้างหน้า และแนวทางการรับซื้อไฟจากไม่มีรูปแบบสนับสนุนเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าไฟ
ส่วนการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่าง รมว.พลังงานกับเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยื่นเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าการเอ็มโอยูดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับเอ็มโอยูที่ทำร่วมกับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพาเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะมีความเห็นตรงกันว่าจะรอผลการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการเอสอีเอที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่าย
นายศิริกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากปัจจุบันที่ใช้ก๊าซฯ เป็นหลัก 60% โดยเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นทางเลือกที่สำคัญ และมีโอกาสที่จะมีสัดส่วนการใช้มากกว่า 20% ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) โดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งในต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซียก็ให้ความสำคัญต่อการใช้เชื้อพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 30-40%
ตรวจสภาพรถยนต์ฟรีกับ ปตท.รับสงกรานต์
วันนี้ (30 มี.ค.) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานใน พิธีเปิดตัวโครงการตรวจเช็กเครื่องยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน PTT Engine Tune Up พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยด้วยการตรวจเช็กเครื่องยนต์ตามมาตรฐานก่อนการเดินทาง ลดใช้พลังงาน ลดผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2561
นายศิริกล่าวว่า รัฐบาลมีความตระหนักถึงปัญหาด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนซึ่งสาเหตุประการหนึ่งเกิดขึ้นจากสภาพเครื่องยนต์ที่ไม่มีความพร้อมสำหรับการเดินทางไกลในช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์นี้ จึงสนับสนุนในการดำเนินโครงการ “PTT ENGINE TUNE UP” ขึ้น โดย ปตท.จัดโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 นับเป็นตัวอย่างอันดีที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยหันมาใส่ใจตรวจเช็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ให้มีความพร้อม สร้างจิตสำนึกแก่ผู้ใช้รถให้เห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสภาพเครื่องยนต์ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและช่วยประหยัดพลังงาน เตรียมพร้อมให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้
นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท.จัดกิจกรรมให้บริการตรวจสภาพรถยนต์ฟรีแก่ประชาชน ภายใต้โครงการ PTT Engine Tune Up จะช่วยประหยัดน้ำมันได้ถึงร้อยละ 5 อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ เนื่องจากรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสภาพแล้วจะมีการปล่อยไอเสียลดลง ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 399 คน ใช้เวลาว่างจากการปิดภาคเรียนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ตลอดจนมีรายได้เสริม
โครงการนี้จะให้บริการตรวจเช็กเครื่องยนต์ฟรี 25 รายการ 138 แห่งทั่วประเทศ ณ สถานีบริการ ปตท. 57 แห่ง ศูนย์บริการ Pro Check 47 แห่ง และศูนย์บริการ FIT Auto 34 แห่งทั่วประเทศที่ร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 5 เมษายน 2561