xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) เครือข่ายพลเมืองสงขลาแถลงโต้กลุ่มหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาทำ MOU กับ รมว.พลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



 
“MGR Online ภาคใต้” พาเสวนานั่งล้อมวงคุยกับเครือข่ายพลเมืองสงขลา แถลงข่าวตอบโต้กลุ่มหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ร่วมทำ MOU กับ รมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ตึกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองสงขลา

ขอให้รัฐมนตรีมีความกล้าหาญในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผล อย่างสันติต่อกรณี MOU ฉบับถ่านหินขาลง ระหว่างรัฐมนตรีฯ กับกลุ่มหนุนถ่านหินเทพา

สืบเนื่องจากการลงนาม MOU ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับกลุ่มสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือ “MOU ฉบับถ่านหินขาลง” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 นั้น
เครือข่ายพลเมืองสงขลา ในนามขององค์กรประสานเครือข่ายหลายกลุ่มองค์กรที่มีไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อจังหวัดสงขลา และจังหวัดรอบข้าง ได้มีความเห็นต่อ “MOU ฉบับถ่านหินขาลง” ดังนี้

1. เครือข่ายพลเมืองสงขลา เข้าใจในความยากลำบากของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และความคิดเห็นแตกต่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในขณะนี้ จึงเป็นเหตุของการลงนาม MOU ฉบับนี้ขึ้น จึงเป็นที่มาที่พอจะเข้าใจได้ หากแต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็จะต้องคำนึงถึงเหตุผล และข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่จริงเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อเรื่องนี้ได้ จึงควรต้องใช้ความกล้าหาญ และความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

2. เครือข่ายพลเมืองสงขลา ขอทำความเข้าใจกับสาธารณะว่า MOU ฉบับ Set Zero ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามกับกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ หรือ UN. นั้น มีหลักการสำคัญที่ต้องการหาทางออกต่อเรื่องนี้ด้วยเหตุผล และเป็นไปตามหลักสันติวิธี เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีทางออกต่อเรื่องนี้ร่วมกัน ดังนั้น การเสนอให้ Set Zero หรือยุติทุกกระบวนการที่ผ่านมา เพราะถือว่าเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งหมด โดยเฉพาะการทำ EHIA ฉบับเจ้าปัญหา ซึ่งเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ และไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งกลุ่มฝ่ายค้านได้มีการยื่นเรื่องนี้ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ทำการตรวจสอบไปก่อนหน้านี้แล้ว และยังเสนอให้รัฐบาลทำการศึกษาผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เสียก่อน ว่าภาคใต้มีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด และควรพัฒนาเรื่องพลังงานไปในทิศทางใดจึงจะเหมาะสม และให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย

3. ข้อตกลง หรือ MOU ทั้ง 2 ฉบับ มีความขัดแย้งกัน และอาจจะส่งผลต่อการดำเนินการเพื่อหาทางออกต่อเรื่องนี้ในระยะต่อไปได้ เพราะการที่ MOU ฉบับขาลง ตามข้อที่ 3 และ 4 เสมือนเป็นการยอมรับ EHIA. ฉบับเจ้าปัญหาตามเหตุผลที่ได้เสนอไปเบื้องต้นแล้ว และยังพบว่าข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวมีความเป็นเท็จในหลายกรณี เราจึงไม่สามารถยอมรับได้หากจะนำข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาประกอบการตัดสินใจในกระบวนการศึกษา SEA ได้ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจะต้องหาข้อยุติความสับสนในประเด็นนี้ให้ได้เสียก่อน

เครือข่ายพลเมืองสงขลา ขอสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติ และมีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้ใช้ทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวโดยการ Set Zero โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพาทั้งหมด แล้วมาเริ่มต้นที่การศึกษาภาพใหญ่ในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว หากแต่ MOU ฉบับที่ 2 อาจจะทำให้เกิดความสับสนและเสียหายต่อกระบวนที่ควรจะเป็นได้ ดังนั้น รัฐมนตรีควรจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ พร้อมกันนี้เราขอยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาคือหายนะของชุมชนในจังหวัดสงขลา และปัตตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนรอบอ่าวปาตานี (ตือโละปาตานี) ทั้งชุมชนริมทะเลและบนบก คือพื้นที่หัวใจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อม และสังคมในระยะยาว

ทางเครือข่ายพลเมืองสงขลา ขอให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และขอเรียกร้องให้ท่านได้แสดงความกล้าหาญที่จะหาทางออกต่อเรื่องนี้ด้วยหัวใจเป็นธรรม และยึดมั่นในข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลตามหลักวิชาการ และขับเคลื่อนกระบวนการให้เกิดความเป็นกลางอย่างเท่าเทียมกัน เราจึงเห็นว่าการ Set Zero กระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมด คือทางออกที่ดีที่สุดเพื่อยุติความขัดแย้งเสียก่อน แล้วใช้การศึกษาเชิงภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA ที่เป็นธรรม เป็นเครื่องมือนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยสันติต่อไป

29 มีนาคม 2561
แถลงโดย เครือข่ายพลเมืองสงขลา
 


กำลังโหลดความคิดเห็น