เครือข่ายหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน 200-300 คนตบเท้ามายัง กฟผ.บางกรวยวันนี้ หนุน กฟผ.เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา แย้มอาจบุกพลังงานและทำเนียบฯ ด้วย ย้ำไม่เห็นด้วยกับ “รมว.พลังงาน” ที่ไปลงนามซื้อเวลาด้วยการทำ SEA จวกรายชื่อคณะกรรมการกำกับศึกษา SEA 12 คนไร้ความเป็นกลางไม่น่าเชื่อถือ
นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 66 องค์กร เปิดเผยว่า วันนี้ (5 มี.ค.) กลุ่มผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพาประมาณ 200-300 คน จะเดินทางมายังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานใหญ่บางกรวย เพื่อที่จะทวงถามและหารือถึงแนวทางการพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งในพื้นที่ภาคใต้ภายหลังจากที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ได้ลงนาม (MOU) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ใช้อำนาจลงนามกับเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่-เทพา โดยให้ถอนการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและให้มีการศึกษาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์(SEA) ภายใน 90 วัน
“เราในฐานะชาวบ้านไม่ได้เป็นคนของกลุ่มทุน ไม่ใช่คน กฟผ.ก็จะมาแสดงจุดยืนในฐานะที่ กฟผ.เป็นผู้ทำตามนโยบายรัฐมาโดยตลอดหลายปี แล้วรัฐเองจู่ๆ ก็มาเปลี่ยนแปลงแบบซื้อเวลาเช่นนี้ไม่เหมาะสม ชาวบ้านเราจะมาให้กำลังใจคน กฟผ. ก็เลยนำชาวบ้านที่สนับสนุนมาและจะให้เขาศึกษาดูโรงไฟฟ้าพระครเหนือด้วยว่าอยู่กับชุมชนได้อย่างไร และส่วนหนึ่งอาจจะเดินทางไปกระทรวงพลังงานและทำเนียบฯ ด้วย”นายพณวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้ การลงนามของ รมว.พลังงานนับเป็นการบริหารนโยบายพลังงานที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของคนในสังคมโดยส่วนใหญ่ เสมือนหนึ่งการไม่สามารถแยกแยะได้ออกระหว่างข่าวสารกับข่าวกรอง ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ได้เลยถึงข้อเท็จจริงและเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทั้งที่โจทย์ของถ่านหินมีการบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) และการที่จะให้ไปทำ SEA ก็เพียงแค่ซื้อเวลาเท่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะยุติปัญหาได้และอาจสร้างปัญหามากขึ้น เพราะล่าสุดการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาประเมิน SEA ล่าสุดที่ รมว.พลังงานเซ็นคำสั่งแต่งตั้งแล้ว 12 คนนั้นล้วนแต่เป็นรายชื่อที่เห็นแล้วชาวบ้านคงคาดหวังอะไรไม่ได้เพราะไม่เป็นกลางเสียส่วนใหญ่ ดูแล้วโน้มเอียงไปทางใดใครก็ทราบเมื่อเห็นชื่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 รมว.พลังงานได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เพื่อจัดทำ SEA ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยมีคณะกรรมการจำนวน 12 คน ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการร่วม 2 คน คือ น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงานที่กำกับดูแลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
กรรมการ 9 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.),ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, น.ส.สุภาภรณ์ ปิติพร, นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว, นายปกรณ์ ปรียากร, นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, นายสินาด ตรีวรรณไชยกุล, นายเติมชัย สุขวิบูลย์ และผู้แทนสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ จะต้องกำหนดเกณฑ์คัดเลือกผู้ดำเนินการศึกษา SEA สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ พร้อมทบทวนและให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอการศึกษาและผลการศึกษา SEA โดยดำเนินการให้เสร็จภายใน 9 เดือน