สร.กฟผ.3 คันรถบัสแต่งชุดดำบุกกระทรวงพลังงานถือป้ายให้ “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” ลาออก พร้อมยื่นหนังสือให้ตอบคำถาม 4 ข้อหวังเคลียร์นโยบายพลังงานโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาให้ชัดเจน หลัง MOU กับกลุ่มค้านใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงสร้างความสับสนนโยบายอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28ก.พ.) พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันแต่งชุดดำทั่วประเทศตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.กฟผ.) รณรงค์เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อที่จะส่งสัญญาณไปยังกระทรวงพลังงานให้ชัดเจนต่อนโยบายด้านพลังงาน และในเวลา 11.00 น. ตัวแทนจากพนักงาน กฟผ.จำนวน 130 คนได้เดินทางมาถึงกระทรวงพลังงานด้วยรถบัส 3 คัน โดยก่อนเข้ามายังหน้าตึกกระทรวงพลังงานได้มีการจัดกระบวนถือป้ายเช่น รมต.ลาออกเถอะ ยิ่งอยู่ยิ่งสับสน ว่าท่านไม่เข้าใจความมั่นคงระบบไฟฟ้า กระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงสำคัญเพียงใดต่อประเทศ เป็นต้น ก่อนที่จะยื่นหนังสือให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน โดยมีนายธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงานเป็นตัวแทนในการรับมอบ
นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อยื่นหนังสือส่งผ่านไปยัง รมว.พลังงานเพื่อขอความชัดเจนในนโยบายและทิศทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อนำกลับมาปฏิบัติ เนื่องจากวิธีการบริหารของท่านมีความสับสนค่อนข้างมาก โดยได้สอบถามใน 4 ประเด็นสำคัญดังนี้
1. ท่านเข้าใจบทบาทหน้าที่ของ รมว.พลังงานมากน้อยเพียงใด เพราะแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และอนุมัติให้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA EHIA) จากคณะรัฐมนตรี การที่สั่งยกเลิกโดยอ้างถึงการทำ MOU กับเครือข่ายปกป้องฝั่งทะเล ท่านลุแก่อำนาจไม่เป็นไปตามหลักการและระเบียบปฏิบัติที่ควรเป็นหรือไม่
2. ท่านได้ให้ความสำคัญต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ให้การยอมรับเสมอภาคเท่าเทียมกับกลุ่มคัดค้านหรือไม่ เพราะการทำงานของ กฟผ.ตลอดเวลาทำตามคำสั่งของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานทั้งสิ้นจนเกิดความเข้าใจ แต่สุดท้ายก็ล้มแบบไม่ไยดีกลายเป็นความไม่น่าเชื่อถือในนโยบายของเจ้ากระทรวง ต่อไปใครจะเชื่อถือนโยบายจากท่าน
3. ท่านให้ข่าวว่า 5 ปีจากนี้ภาคใต้ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อยากทราบว่า ท่านมีข้อมูลอะไรหรือนโยบายรายวันในประเด็นความมั่นคงเชื้อเพลิงการผลิตและราคาที่ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟในภาพรวมอย่างไร และหากภาคใต้มีการใช้ขยายตัวและต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี ซึ่งข้อมูลตามระบบจะมีปัญหาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปจะทำอย่างไร
4. กระบวนการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสูงเกือบ 70% เป็นความเสี่ยงที่ท่านก็ทราบดี และการกระจายความเสี่ยงการใช้เชื้อเพลิงต้องมีความสมดุล และมั่นคงในระบบของประเทศ ราคาค่าไฟไม่เป็นภาระต่อประชาชนส่วนใหญ่จะทำอย่างไร
“วันนี้เราก็มาแสดงเจตนารมณ์ว่าพนักงานกับ สร.กฟผ.สับสนกับนโยบายของท่าน รมว.พลังงาน เพราะกว่าจะมีนโยบายสร้างกระบี่ เทพา ผ่านขั้นตอนต่างๆ มาหลายปี แต่ท้ายสุดท่านใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการหยุด ดังนั้นจึงขอความชัดเจนในนโยบายจากท่านก่อน โดยไม่ใช่เป็นการสั่งการจากความรู้สึกหรือผ่านสื่อมวลชน ทั้งหมดที่เราทำวันนี้ก็หวังให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนคนไทยเพราะเรามีหน้าที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า ผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ในราคาเหมาะสม เราไม่ได้หวังกำไรสูงสุด เงินกำไรส่วนหนึ่งก็ส่งคลัง ล่าสุดก็เข้าไป 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนความเห็นต่างเราเคารพ แต่ รมว.พลังงานในฐานะดูแลนโยบายท่านจะต้องแก้ไขและทำความเข้าใจ” นายพนมทวนกล่าว