สหภาพฯ กสท โทรคมนาคม ทนไม่ไหว หลังฟางเส้นสุดท้ายขาด ต่อสู้คัดค้าน ตั้ง 2 บริษัทลูกมากว่า 2 ปี ส่งหนังสือหาความชัดเจนกว่า 20 ฉบับ แต่ไร้คำตอบ เดินหน้าพึ่งศาลเป็นโจทก์ฟ้องดีอี เหตุดำเนินการตั้งบริษัทลูก และแยกทรัพย์สินผิดกฎหมาย หวังศาลมีคำสั่งยกเลิก หรือคุ้มครองชั่วคราว ด้านสหภาพฯ ทีโอที ขอสงวนท่าทีก่อน ไร้ผู้นำเดินเกมรุก
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 เวลา 11.30 น. ตนเองพร้อมทนาย และตัวแทนพนักงาน กสท โทรคมนาคม ได้เดินทางไปยังศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นคำฟ้องในฐานะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ต่อ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คดีดำ ที่ 571/2561
เพื่อให้มีคำสั่ง 2 เรื่อง คือ 1. ยกเลิกหรือเพิกถอนการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) และบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co.) 2. ระงับหรือยกเลิกการแยกหรือโอนทรัพยากรที่มีค่าของรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ไปให้บริษัทลูก NGDC Co. และมีคำสั่งระงับหรือยกเลิกการแยกหรือโอนทรัพยากรที่มีค่าของรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปให้บริษัทลูก NBN Co.
ทั้งนี้ ตนเองในฐานะตัวแทนสหภาพฯ มีความมั่นใจว่าสามารถมีสิทธิในการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อกระทรวงดีอีได้ ตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 มาตรา 40 (4) ที่ระบุว่า “สหภาพฯ สามารถดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ”
เนื่องจากไม่เพียงแต่พนักงานจะเสียประโยชน์เท่านั้น องค์กร และประชาชน รวมถึงประเทศชาติ ก็จะเสียประโยชน์ในการตั้ง 2 บริษัทลูก เพราะต้องมีการโอนทรัพย์สินไปให้บริษัทลูก โดยที่บริษัทแม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าเพื่อใช้งานโครงข่ายของบริษัทลูก
เท่ากับว่า นอกจากจะทิ้งหนี้สินที่บริษัทแม่ต้องรับผิดชอบแล้ว บริษัทแม่ยังไม่มีรายได้จากการให้บริการโครงข่าย แถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าทรัพย์สินที่เคยเป็นของตนเองอีกด้วย และหากคู่สัญญาที่เช่าอุปกรณ์ของบริษัทแม่เกิดปัญหา ต้องให้บริการเพื่อความสะดวกแก่ประชาชน บริษัทแม่จะไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะทรัพย์สินได้ถูกแยกไปอยู่ที่บริษัทลูกหมดแล้ว
“สุดท้าย ประชาชนก็เดือดร้อน ที่สำคัญ โครงข่ายด้านโทรคมนาคมของประเทศควรเป็นของรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงให้ประเทศ แต่กลับตกไปอยู่ในมือของเอกชน อย่างนี้แล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เอกชนจะช่วยรัฐในการสร้างความมั่นคงให้ประเทศ”
นายสังวรณ์ ระบุต่อว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา สหภาพฯ ต่อสู้ และคัดค้านเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด มีความพยายามในการทำหนังสือถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาแล้วมากกว่า 20 ฉบับ ทั้ง กระทรวงดีอี, ผู้บริหาร กสท โทรคมนาคม, คณะกรรมการบริษัท สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดจนนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หนังสือที่ตอบกลับมา มีเพียงหนังสือจากฝ่ายบริหารที่ตอบมาแบบไม่ตรงคำถามเพียง 4 ฉบับเท่านั้น
ล่าสุด สหภาพฯ ยังได้ให้เส้นตายกับกระทรวงดีอี ในการตอบความชัดเจนดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา โดยให้เวลาตอบหนังสือกลับมาภายใน 15 วัน แต่เรื่องก็เงียบเหมือนเคย ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายขาด และไม่รู้จะพึ่งใครนอกจากศาล และมั่นใจว่าศาลจะเป็นที่พึ่งได้ ภายใน 15 วันนี้ จะได้รู้คำตอบว่าศาลจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งตนเองก็หวังว่าจะให้มีการยกเลิกหรือคุ้มครองชั่วคราวไปก่อน
“หนังสือคัดค้านและสอบถามข้อเท็จจริงหลายฉบับที่เราทำ มติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ก็ให้กระทรวงดีอี เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพนักงาน และสหภาพฯ แต่ก็ไมได้รับการชี้แจงหรือคำตอบแต่อย่างใด การแยกทรัพย์สิน มันขัดต่อนโยบาย ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ทำให้ทั้ง 4 บริษัท คือ บริษัทแม่ และบริษัทลูกอ่อนแอ รัฐจะขาดเครื่องมือดำเนินธุรกิจแทนรัฐ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะและในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีการถ่วงดุลราคา เอกชนจะผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม ผู้ใช้บริการ หรือประชาชนจะถูกเอาเปรียบ”
นายสังวรณ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการแยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักและบริการไปยังบริษัทลูก ยังไม่มีความชัดเจนจากแผนปรับเปลี่ยนธุรกิจ และแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการ ที่อยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาพิจารณาดำเนินการ และที่ต้องจัดทำแผนดำเนินการที่สมบูรณ์ เพื่อให้สะท้อนมูลค่าทรัพย์สินประมาณการรายได้ ค่าใช้จ่าย และผลตอบแทนทางการเงินที่แท้จริงเหล่านี้ ยังไม่เห็น
แผนถ่ายโอนทรัพย์สิน แผนการโอนย้ายพนักงาน และแนวทางในการกำกับดูแลการดำเนินการ รวมถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทแม่ ก็ไม่ปรากฏ จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 เรื่องหลักเณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ กล่าวคือ บริษัทในเครือต้องไม่ดำเนินกิจการที่เป็นภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจแม่ และต้องพิจารณาผลกระทบและประโยชน์ที่บริษัทแม่จะได้รับก่อน จึงจะขออนุมัติความเห็นจาก ครม. ต่อไป
ดังนั้น การจัดตั้งบริษัทลูกที่เห็นชอบในหลักการ ซึ่งได้รับการยกเว้นเหมือนที่บริษัทแม่ได้รับเมื่อตอนแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ดังนั้น หากจะมีการโอนทรัพย์สินออกจาก บริษัทแม่ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายก่อน
เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและรัฐวิสาหกิจ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 (9) โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เป็นอันดับแรก และต้องมีการกำหนดกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดชอบ และสินทรัพย์ที่จะโอนไป ให้มีขั้นตอนความชัดเจน โปร่งใส และปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีกระทรวงดีอี ไม่ได้นำหลักเกณ์ คำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติเลย รวมถึงคำแถลงนโยบายของ ครม. ข้อ 6.14 ที่ระบุว่า “พัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมาย และมาตรการที่จะแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐในการพัฒนาประเทศ และพัฒนากลไกการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศส่วนรวม คุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ด้วย”
ส่วนสหภาพแรงงานฯ ทีโอที กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและดูท่าทีของสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม ก่อน ว่าศาลจะมีความเห็นอย่างไร จากนั้น จึงค่อยพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากฝ่ายบริหารของสหภาพฯ ทีโอทีแบ่งเป็นสองฝ่ายทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะเสียผลประโยชน์กับฝ่ายบริการทีโอที แต่ทั้งนี้ ก็ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดให้กับสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม ในการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงดีอีต่อศาลในครั้งนี้