ปัตตานี - โรงเรียนนาวาวิทย์ ใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มุ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านป่าบอน เน้นสอนภาษาหลากหลาย หวังสร้างโอกาสให้แก่เด็กเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในโรงเรียนนาวาวิทย์ ซึ่งเต็มไปด้วยเด็กนักเรียน และผู้ปกครอง ที่เข้ามาแสดงความยินดีกับลูกหลานที่เป็นบัณฑิตน้อยชั้นอนุบาล และประถมปลาย ประจำปีการศึกษา2561 จำนวน 400 คน โดยมี นายอารง เบญจลักษณ์ รองนายก อบจ.ปัตตานี มาเป็นเกียรติมอบวุฒิบัตร และประกาศนียบัตรให้แก่น้องบัณฑิตในครั้งนี้ โรงเรียนนาวาวิทย์ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่กับวิชาสามัญ มีนักเรียน 1,730 คน มีอาคารเรียนเป็นตึกสูง 3 ชั้น สวยงามตระหง่านอยู่กลางทุ่งนาภายในชุมชนบ้านป่าบอน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
นายคอยา วาเล็ง หรืออุสตาซยา ได้เปิดเผยว่า ในฐานะเป็นผู้ได้รับอนุญาตก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2552 เริ่มแรกมีเด็กนักเรียนเข้ามาเรียน 46 คน ผ่านมาแล้ว 10 ปี ปัจจุบัน มีนักเรียน 1,730 คน โรงเรียนนาวาวิทย์เป็น “โรงเรียนประเภทเพื่อการกุศล” ได้การอุดหนุน 100 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ที่นี่ทุกอย่างฟรีหมด การเรียนที่นี่เราจะเน้นอัลกุรอาน นักเรียนที่นี่ทุกคนต้องจบอ่านอัลกุรอาน 30 ยุซกันทุกคน หรือตัมมัตอัลกุรอาน “อ่านไม่ใช่ท่องจำ” และทุกปีทางโรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมตัมมัตอ่านอัลกุรอาน ควบคู่กับพิธีมอบวุฒิบัตรแก่บัณฑิตน้อย และทุกปีจะมีผู้ปกครองนำแพะมาบริจาดให้แก่ทางโรงเรียนด้วยความสมัครใจ เพื่อนำไปเชือดทำกับข้าวเลี้ยงอาหารผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนในวันงานเป็นประจำทุกปี ปีนี้มีผู้ปกครองนำแพะมาบริจาดให้แก่ทางโรงเรียน 120 ตัว เพราะดีใจที่ลูกหลานตัวเองสามารถจบอ่านอัลกุรอานทั้งเล่ม จึงเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองที่ได้ส่งบุตรมาเรียนที่นี่
นายคอยา หรืออุสตาซยา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากทางโรงเรียนจะประสบความสำเร็จในเรื่องการอ่านอัลกุรอานแล้ว ยังได้มีการพัฒนาขีดความสามารถในด้านภาษาอีกด้วย โรงเรียนเราได้พัฒนาด้านภาษา มีการสอนถึง 5 ภาษาด้วยกัน ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ อาหรับ มลายู และจีน เพราะเราเชื่อว่าภาษาจะนำโอกาสให้แก่นักเรียนได้ดีที่สุด
นายคอยา หรืออุสตาซยา ได้มองประเด็นการเข้ามาตรวจสอบของหน่วยความมั่นคงในโรงเรียนเอกชนทุกวันนี้ว่า มันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะโรงเรียนเป็นสถานศึกษาที่เป็นที่สาธารณะที่ไม่เหมาะสมที่ใช้กองกำลังถืออาวุธครบมือเข้ามาแสดงอำนาจในหน้าที่ เพราะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการศึกษาเอกชน (ศช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเช่นกัน เป็นการปฏิบัติหน้าซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ก่อนหน้านี้ ทาง ศช.ได้มีการตรวจสอบในเรื่องการลงทะเบียนเด็กนักเรียนซ้ำกัน และได้เรียกคืนในส่วนที่ซ้อนกันไปหมดแล้ว โรงเรียนเอกชนทุกแห่งก็ยินดีให้ความร่วมมือ ไม่มีใครเห็นเป็นอย่างอื่น และทุกวันนี้ทางโรงเรียนเอกชนอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการศึกษาเอกชน (ศช.) อย่างใกล้ชิด
โดยส่วนตัวก็อยากถามเหมือนกันว่า ที่หน่วยความมั่นคงเข้าไปตรวจสอบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทุกวันนี้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ถ้าเป็นเรื่องการทุจริตต้องมีการตรวจทุกหน่วยงานที่ได้รับเงินงบประมาณจากรัฐ เช่น โรงเรียนในสังกัด สพฐ. เป็นต้น แม้กระทั่งหน่วยงานของทหารเองพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบบ้างหรือไม่ ไม่อย่างนั้นถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ มีความผิดตามมาตรา 157 จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกรุณาให้เกียรติกันบ้าง บ้านเมืองเราจะได้อยู่อย่างมีความสุข ไม่ต้องมัวแต่ระแวงกันไประแวงกันมา แล้วประเทศมันจะเดินไปได้อย่างไร ทุกวันนี้ทุกคนทุกฝ่ายกำลังหาความปรองดอง “รักษาจุดต่างแสวงจุดรวม” เพื่อช่วยกันเดินหน้าประเทศไทย ตนเองในฐานะอดีตเคยต้องคดีความมั่นคงมาแล้ว คนเดียวมากถึง 52 คดี สู้คดีมา 5 ปี จนศาลให้ความเมตตายกฟ้องเมื่อปี พ.ศ.2551 ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงอยากฝากไว้เตือนสติ
ด้าน นางไลลา วาเล็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนนาวาวิทย์ ได้กล่าวถึงปัญหา และอุปสรรคของการเรียนการสอนในปัจจุบันว่า มีการแทรกแซงของนโยบาย มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ทำให้ผู้บริหาร และคณะครูกลับลำไม่ค่อยทัน โดยเฉพาะกรณีการวัดผลเด็กนั้นมีบ่อยเกินไป บางครั้งส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครูที่ได้วางไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงอยากให้ทางหน่วยเหนือควรให้มีการกำหนดให้สมดุล และเหมาะสมต่อการเรียนการสอนของทางโรงเรียนด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ห้องพญาตานี 1 โรงแรมเซาท์เทิร์นวิวปัตตานี หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข จัดกิจกรรมโครงการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “บทบาทโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และสถาบันปอเนาะในการสร้างสันติสุขชายแดนใต้” เพื่อรับทราบแนวทาง บทบาท และนโยบายด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยมี พ.อ.อิศเรศ พุ่มมาก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสันติสุข เป็นประธานในพิธีเปิด
สำหรับการบรรยายในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายทรงพล ขวัญชื่น ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี อาจารย์อาลี เสือสมิง นักวิชาการมุสลิม และ ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ที่มาร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และสถาบันปอเนาะในการสร้างสันติสุขชายแดนใต้” เพื่อเผยแพร่แนวความคิดที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดตรรกะทางความคิดเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งจะนำไปสู่การสกัดกั้นการขยายตัว และลดการแพร่ขยายแนวคิดของขบวนการกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในสถานศึกษา เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการพูดคุยแบบสันติวิธีระหว่างกลุ่มผู้บริหาร ครูสอนศาสนา และครูสอนสายสามัญของสถานศึกษา ให้มีความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็ว