xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ควงสถาบันอาหาร-คณะกรรมการอิสลามกรุงเทพฯ พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิธีลงนาม (Mou) ร่วมกันของ 3 หน่วยงานภาครัฐฯ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
สสว.ผนึกสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร พัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ ด้านมาตรฐานกิจการฮาลาล ด้านการวิจัยและพัฒนา ต่อยอดธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME ไทย-เทศยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ ด้านมาตรฐานกิจการฮาลาล ด้านการวิจัยและพัฒนา อันจะเสริมสร้างอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มประเทศมุสลิมและมิใช่มุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือพอสังเขป ดังนี้ 1. การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮาลาลแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และพัฒนาผู้ประกอบการ รวมทั้งพัฒนาระบบการจัดการในสถานประกอบการให้เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาลร่วมกัน 2. การสนับสนุนการศึกษา วิจัย และการประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การวิเคราะห์ตรวจสอบ เพื่อยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐานฮาลาล 3. การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญด้านการบริหารงานและการบริการระหว่างกัน 4. การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน 5. การบริการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ฮาลาลทางด้านเคมี ชีวภาพ และกายภาพ ตามมาตรฐานสากล โดยห้องปฏิบัติการของสถาบันอาหาร และ 6. พัฒนาช่องทางการตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีผู้ผลิตทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือชาวมุสลิมกระจายอยู่มากกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก แต่ยังมีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการทางศาสนาและหลักการผลิตอาหารฮาลาล ทำให้มองไม่เห็นโอกาสของตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในการต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจการผลิตอาหารฮาลาล” ผอ.สถาบันอาหารกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สถาบันอาหาร กับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับรองและควบคุมมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งยังสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการด้านมาตรฐานอาหาร เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานฮาลาล ซึ่ง สสว.และสถาบันอาหารได้ร่วมกันดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดมุสลิมในประเทศและตลาดฮาลาลทั่วโลกได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น