สถาบันอาหารเผยข้อมูลชาวออสเตรเลียมีแนวโน้มบริโภคซอสและเครื่องปรุงรสเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี ชี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา น้ำปลา เป็นสินค้าที่เติบโตมากที่สุดเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี รับกระแสความนิยมจากรายการแข่งขันทำอาหารทางโทรทัศน์ ชี้จุดแข็งเครื่องปรุงรสของไทยอยู่ที่เครื่องเทศ และสมุนไพรไทย เร่งพัฒนาสูตรเพื่อสุขภาพ หรือสูตรเฉพาะสำหรับอาหารไทย
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารได้จัดทำรายงานตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในออสเตรเลีย พบว่าผู้บริโภคชาวออสเตรเลียมีปริมาณการรับประทานซอสและเครื่องปรุงรสเฉลี่ยคนละประมาณ 13.8 กิโลกรัมต่อปี และมีแนวโน้มความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสความนิยมของรายการทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการแข่งขันทำอาหาร เช่น รายการ Master Chef และรายการ My Kitchen Rules ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวออสเตรเลียจำนวนมากหันมาทดลองประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน ส่งผลให้สินค้าซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย
โดยในปี 2560 ประมาณการว่าตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในออสเตรเลียมีมูลค่า 2,529.7 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2560) ซึ่งสินค้าที่มีการเติบโตสูงสุดในช่วงดังกล่าว ได้แก่ น้ำปลา โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี เนื่องจากมีความสนใจทำอาหารเอเชียมากขึ้น สำหรับรสชาติของซอสปรุงอาหาร (Cooking Sauces) แบบสำเร็จรูปที่นิยมบริโภคมากที่สุด ได้แก่ น้ำเกรวี น้ำแกง ซอสเปรี้ยวหวาน น้ำพริก และซอสครีมเปรี้ยวสโตรกานอฟฟ์ (Stroganoff) มีสัดส่วนร้อยละ 18.2, 14.6, 9.3, 8 และ 7.5 ตามลำดับ
“แม้ว่าสินค้าของไทยจะมีมูลค่าไม่สูงมากนักในตลาดออสเตรเลีย แต่ด้วยทิศทางการนำเข้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ส่งผลให้ซอสและเครื่องปรุงรสของไทยกลายเป็นอีกกลุ่มหนึ่งสินค้าอาหารที่มีความน่าสนใจและควรได้รับการส่งเสริม โดยในปี 2560 (มกราคม-ตุลาคม) ออสเตรเลียมีการนำเข้าสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสจากไทยมูลค่าประมาณ 35.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่นำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องแกงสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้า 12.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.4 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสทั้งหมดจากไทย ตามด้วยน้ำปลา ซอสถั่วเหลือง น้ำมันหอย และซอสมะเขือเทศ มีสัดส่วนร้อยละ 6.5, 2.9, 2.3 และ 1.2 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ชาวออสเตรเลียให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสุขภาพแบบธรรมชาติ ดังนั้นจึงชอบรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศและสมุนไพร ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องวัตถุดิบที่หลากหลายเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยหากสินค้านั้นทำด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือมีฉลาก ‘organics’ จะได้รับความนิยมอย่างมาก รวมถึงสินค้าที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีฉลาก ‘ecolabel’ และบรรจุในภาชนะที่ปลอดภัย สะดวกต่อการหยิบใช้งาน ก็จะเป็นที่สนใจเช่นกัน”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า สินค้าซอสและเครื่องปรุงรสไทยมีศักยภาพ และโอกาสขยายสู่ตลาดออสเตรเลียได้อย่างแน่นอน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1) กลุ่มเครื่องแกงสำเร็จรูป เช่น เครื่องต้มยำ แกงเขียวหวาน แกงพะแนง และแกงส้ม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเป็นชนิดสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยต้องคำนึงถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสะดวก เหมาะสมในการใช้งาน 2)กลุ่มซอสบนโต๊ะอาหาร(Table Sauces) เช่น น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง และซอสหอยนางรม ซึ่งกลุ่มนี้มีคู่แข่งรายสำคัญจากฮ่องกง และสิงคโปร์อยู่ในตลาดนี้ด้วย ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและรักษาฐานตลาด โดยการคิดค้นสูตรเพื่อสุขภาพ เช่น สูตรปราศจากสารกลูเตน หรือสูตรโซเดียมต่ำ เป็นต้น
และ 3) กลุ่มซอสปรุงอาหาร(Cooking Sauces) ได้แก่ ผงหมัก หรือซอสหมักเนื้อสัตว์ต่างๆ (Dry Sauces/Powder Sauces) เช่น ผงหมักหมูแดง ไก่ย่าง เนื้อสะเต๊ะ และน้ำซอสปรุงรส (Wet Cooking Sauces) เช่น น้ำยาสำเร็จรูป ซอสผัดไทย และน้ำปรุงส้มตำ เป็นต้น สำหรับนำไปคลุกหรือผสมกับส่วนประกอบอื่นได้เลย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *