ผู้จัดการรายวัน 360 - “ดีเอชแอล” เปิดแผนบุก ปี 61 พร้อมผุดดีเอชแอลเซอร์วิสพอยต์ให้ครบ 1,000 จุดในสิ้นปีนี้ สยายปีกผนึกพันธมิตรเชนรายใหญ่มีเครือข่ายมาก ล่าสุดดึง “ซีเอ็ด” เป็นพันธมิตรแล้ว รองรับตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมาแรงและโตเร็วกว่า 25%
นายเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย จำกัด และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะขยาย ดีเอชแอล เซอร์วิสพอยต์ หรือ DHL ServicePoint หรือจุดรับส่งพัสดุด่วนในประเทศ ให้ได้ประมาณ 500 จุด เพื่อให้สิ้นปีนี้มีจุดดีเอชแอลเซอร์วิสพอยต์รวมเป็นประมาณ 1,000 จุด และเพิ่มเป็น 2,000 จุดภายในปีหน้า (2562) จากปัจจุบันที่มีประมาณ 500 จุด
ทั้งนี้ กลยุทธ์การขยายจะเปิดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จากปัจจุบันที่มีประมาณ 500 จุด ด้วยการหาพันธมิตรที่มีธุรกิจเป็นเชนรายใหญ่มีสาขาจำนวนมากเข้ามาเป็นจุดบริการของเรา ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20-30 ราย กับการขยายผ่านผู้สนใจรายย่อยที่มีทำเลในจุดที่เหมาะสมที่บริษัทต้องการจะเปิดจุดเซอร์วิสพอยต์ได้ ซึ่งบริษัทฯ มีจุดบริการเซอร์วิสพอยต์ที่เป็นของบริษัทฯ เองแห่งเดียวที่แพลทินัมแฟชั่นมอลล์
ล่าสุดบริษัทฯ ได้พันธมิตรใหม่ คือ ร้านหนังสือซีเอ็ด ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศเกือบ 400 สาขา ซึ่งในช่วงแรกนี้ได้ติดตั้งจุดบริการในร้านซีเอ็ดแล้วประมาณ 150 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลังจากที่ได้ร่วมทดลองทำกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และวางแผนที่จะเปิดจุดบริการในร้านซีเอ็ดทั้งหมดทุกสาขาในช่วง 1-2 ปีนี้
ทั้งนี้จะช่วยทำให้ลูกค้าของดีเอชแอลมีความสะดวกมากขึ้น จากการขยายจุดบริการครั้งนี้ โดยลูกค้าหลักมี 2 กลุ่ม คือ 1. ลูกค้าที่มีการลงทะเบียนกับดีเอชแอล และลูกค้าที่เป็นมาร์เกตเพลซ 2. ลูกค้าทั่วไป ที่จำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ลูกค้ารายย่อยมีประมาณ 80% ของพอร์ตทั้งหมด และตั้งเป้าหมายมีสัดส่วนรายได้จากรายย่อยนี้ประมาณ 30% ในปีนี้ และคาดว่าปีนี้รายได้รวมจะเติบโต 5-10%
“ดีเอชแอลเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยใช้จุดแข็งทางด้านลอจิสติกส์ของเราที่มีอยู่มาสนับสนุนเพื่อก้าวเข้าสู่ดิจิตอล โดยดีเอชแอลเน้นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างเอเชีย โดยเฉพาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเซาท์อีสต์เอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมาก มีโอกาสในการขยายธุรกิจนี้ได้มาก ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเป็นที่สองรองจากอินโดนีเซียเท่านั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเติบโต 20-25% ต่อปี โดยเฉลี่ย 5-10 ปีแล้ว” นายเกียรติชัย กล่าว
ทั้งนี้ ตลาดออนไลน์ในไทยยังน้อยมาก หรือมีสัดส่วนเพียงแค่ 2% ของตลาดค้าปลีกทั้งระบบ ขณะที่ประเทศอื่นสัดส่วนทางด้านชอปปิ้งออนไลน์มีมากกว่า 15-20% ของระบบแล้ว จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
นายเกียรติชัยกล่าวว่า ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ เริ่มให้บริการจุดส่งพัสดุภายในประเทศ เรามองเห็นการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับความต้องการของลูกค้าที่เฉลี่ยลงไปอยู่ไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะพัฒนาการให้บริการของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะนำเสนอรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายเครือข่ายจุดบริการดีเอชแอลเซอร์วิสพอยต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ถึงผู้ประกอบการธุรกิจแบบ C2C สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
นายเจนพบ รักสินเจริญศักดิ์ หัวหน้าแผนกเซอร์วิสพอยต์ ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซนี้กล่าวได้ว่าสัดส่วนใหญ่ที่สุดจะอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 35% รองลงมาคือ อเมริกาเหนือ สัดส่วน 32% และยุโรป 26% ทีjเหลือ 7% เป็นภูมิภาคอื่นๆรวมกัน
โดยที่ขนาดตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่าดังนี้ เรียงตามลำดับตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ อินโดนีเซีย จะมีมูลค่า 5,129 ล้านยูโร 2. ไทย มูลค่า 3,643 ล้านยูโร 3. เวียดนาม มูลค่า 2,106 ล้านยูโร 4. สิงคโปร์ มูลค่า 1,608 ล้านยูโร 5. พม่า มูลค่า 1,405 ล้านยูโร 6. ฟิลิปินส์ มูลค่า 473 ล้านยูโร ซึ่งจำนวนประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีประมาณ 650 ล้านคน มีการซื้อสินค้าทางออนไลน์ ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่ามีการใช้สมาร์ทโฟน รวม 90.94 ล้านเครื่อง มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต 67% ในปีนี้ (2561) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 80% ในปี 2563 มีการใช้อินสตาแกรมจำนวน 11 ล้านราย มีการใช้เฟซบุ๊ก 47 ล้านราย มีเอสเอ็มอีประมาณ 15,000 รายเปิดร้านขายสินค้าออนไลน์
นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ด ยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราวางแผนที่จะขยายบริการดีเอชแอลเซอร์วิสพอยต์ให้ครอบคลุมทุกสาขาในร้านซีเอ็ดทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ และเพื่อเป็นการตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เราได้เปิดช่องทางการซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ซึ่งเป็นการกระตุ้นยอดขายให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เชื่อว่าถ้าเรามีบริการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพกลางได้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะยังสามารถขยายตัวไปได้อีกมากแน่นอน