xs
xsm
sm
md
lg

ชงผลศึกษารถไฟ “ไทย-ญี่ปุ่น” เข้า ครม.ภายใน เม.ย. ตั้งเป้าตอกเข็มปี 63 - ถกญี่ปุ่นร่วมทุนตั้ง SPV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เผยเตรียมชง ครม.เม.ย.นี้ รับทราบผลศึกษารถไฟไทย-ญี่ปุ่น ระยะแรก กรุงเทพ-พิษณุโลก วงเงิน 2.76 แสนล้าน ตั้งเป้าออกแบบปี 62 เริ่มก่อสร้างปี 63 และวางแผนเจรจาญี่ปุ่นร่วมลงทุนตั้ง SPV เพื่อผลักดันโครงการ ขณะที่เตรียมเรียก BTS-BEM หารือมาตรการเพิ่มเติม หลังบันไดเลื่อน BTS หลุด ด้าน วสท.แนะตรวจสอบซ่อมบำรุงตามคู่มือ “BTS รฟม. และแอร์พอร์ตเรลลิงก์” ควรใช้มาตรฐานบำรุงรักษาเดียวกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ว่า ขณะนี้ทางญี่ปุ่นได้รายงานผลการศึกษา ช่วง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. มูลค่าลงทุน 276,225 ล้านบาทแล้ว ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในเดือน เม.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเป็นการออกแบบรายละเอียด ซึ่งจะดำเนินการในปี 2561-2562 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ในส่วนของระยะที่ 2 ช่วง พิษณุโลก-เชียงใหม่นั้นจะเริ่มดำเนินการศึกษาหลังจากนี้เช่นกัน เพื่อให้โครงการมีการต่อเชื่อมตลอดเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม.

ส่วนการลงทุนนั้น ญี่ปุ่นได้เสนอในรายงานการศึกษาให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด หรือรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้เดินรถจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากโครงการใช้เงินลงทุนสูง ใช้เวลานานในการคืนทุน และต้องพัฒนาพื้นที่ เบื้องต้นทางกระทรวงคมนาคมได้หารือกับญี่ปุ่น ว่าต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโครงการด้วย เช่น ตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ขึ้นมาลงทุนร่วมกัน ตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้าง ส่วนการเดินรถอาจจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งรูปแบบการลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ และยังมีเวลาในการหารือ

“ประสบการณ์ของญี่ปุ่นจะเริ่มจากรัฐบาลลงทุนก่อน เพราะใช้เงินลงทุนสูง ระยะเวลาคืนทุนนาน ส่วนประเทศอื่น เช่น ไต้หวันเริ่มต้นจากให้เอกชนลงทุน แต่ไม่นานเอกชนเริ่มมีปัญหาทางการเงิน และต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไต้หวันต้องเข้าไปซื้อหุ้น จนเป็นรัฐวิสาหกิจ จะเห็นว่า การลงทุนมีหลายรูปแบบ ต้องหาแนวทางที่เหมาะกับไทย”นายอาคมกล่าว

เตรียมเรียก BTS -BEM หารือมาตรการเพิ่ม หลังบันไดเลื่อน BTS หลุด

ส่วนกรณีที่ บันไดเลื่อนรถไฟฟ้าบีทีเอสชำรุดที่สถานีพญาไทเมื่อวันที่ 19 มี.ค.นั้น นายอาคมกล่าวว่า BTS ชี้แจงว่า เมื่อระบบมีปัญหาจะปิดตัวอัตโนมัติ ซึ่งบริษัทได้แก้ไขทันทีที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีบันทึกความร่วมมือกับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าอยู่แล้วทั้ง BTS รวมถึงบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง รฟม., กทม. ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยและการซ่อมบำรุงเข้มงวดมากขึ้น และจะนัดหารือกันอีกครั้ง เพื่อขยายความร่วมมือแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ

โดยวันนี้ (21 มี.ค.) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันวิเคราะห์ความเป็นไปได้จากเหตุการณ์บันไดเลื่อนBTS ชำรุดโดยนายธเนศ วีระศิริ นายก วสท.กล่าวว่า บันไดเลื่อนมีระบบความปลอดภัยและได้หยุดการทำงานทันที เมื่อเกิดเหตุและบริษัทฯ ได้เข้าปิดกั้นพื้นที่ทันที ส่วนสาเหตุนั้นมีความเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น จากการเสื่อมชำรุดของอุปกรณ์ ความผิดพลาดของคน ลักษณะการใช้งาน ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย รองประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท.กล่าวว่า ก่อนการใช้งานว่าบันไดเลื่อนนั้นปลอดภัยหรือไม่ ให้สังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ เช่น บันไดเลื่อนมีเสียงดังผิดปกติและมีร่องรอยชำรุด, ราวมือจับบันไดเลื่อนไม่ทำงานหรือฉีกขาด ร้อนผิดปกติ กระตุก เคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอ เคลื่อนที่ไม่สัมพันธ์กับขั้นบันไดเลื่อน หรือเคลื่อนที่ด้านซ้าย และขวาไม่เท่ากัน, ขั้นบันไดเลื่อนเคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอ กระตุกมีเสียงดัง, ซี่ของขั้นบันไดแตกหักมากกว่า 4-5 ซี่ติดต่อกันในหนึ่งขั้น หรือแตกหักเป็นจำนวนมาก, ซี่หวีที่แผ่นพื้นปิดห้องเครื่องแตก หักมากกว่า 4-5 ซี่ติดต่อกัน หรือแตกหักเป็นจำนวนมาก, ไม่ได้ยึดน็อตที่แผ่นพื้นปิดห้องเครื่องให้เรียบร้อย, มีขยะ สิ่งสกปรก หรือน้ำเจิ่งนองที่บันไดเลื่อน, ขอบข้างบันไดเลื่อนมีรอยเสียดสีเป็นร่อง ฉีกขาด หรือชำรุด, ระยะห่างความปลอดภัยทางเข้าออกบันไดเลื่อนน้อยเกินไป

ความสูงจากขั้นบันไดเลื่อนถึงเพดานน้อยกว่า 2.30 เมตร, ระยะห่างระหว่างราวมือจับบันไดเลื่อนน้อยกว่า 12 เซนติเมตร, ระยะห่างระหว่างราวมือจับบันไดเลื่อนกับผนังน้อยกว่า 80 เซนติเมตร, ระยะห่างระหว่างข้างขอบบันไดเลื่อนกับขั้นบันไดเลื่อนห่าง หรือชิดเกินหรือน้อยกว่า 4 มิลลิเมตร, ระยะห่างระหว่างซี่ของขั้นบันไดเลื่อนที่ขบกันห่าง หรือชิดเกินหรือน้อยกว่า 4 มิลลิเมตร, ระยะห่างระหว่างซี่ของขั้นบันไดเลื่อนกับแผ่นพื้นปิดบันไดเลื่อนที่ขบกันห่างหรือชิดเกินหรือน้อยกว่า 4 มิลลิเมตร, พบเห็นปุ่มกดฉุกเฉินชำรุด หรือ มีคราบน้ำมันหล่อลื่นตามขอบข้างบันไดเลื่อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุบันไดเลื่อนและทางเลื่อน ผู้ดูแลรักษาอุปกรณ์ควรดูแลอุปกรณ์ให้ตรงตามคู่มือการใช้งานซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ โดยจะต้องตรวจเป็นประจำทุกหนึ่งเดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ตัวอย่างการบำรุงรักษาที่ต้องตรวจสอบ คือ ระบบไฟฟ้า น้ำมันหล่อลื่น การสึกหรอของล้อบันไดเลื่อน และราง ปรับความตึงของโซ่ และราวบันได ตรวจสอบซี่บันได ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมที่ตกหล่นเข้าไปในบันไดเลื่อน ปรับแต่งระยะห่างความปลอดภัยที่ซี่ขั้นบันได ช่องว่างขอบข้างบันได ช่องว่างทางเข้า และออกของราวบันได ขั้นบันไดกับแผ่นปิดห้องเครื่อง และอุปกรณ์ความปลอดภัยของบันไดเลื่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น