ร.ฟ.ท.จับมือ ปตท. ทดลองใช้ น้ำมันไบโอดีเซล B10 กับรถดีเซลราง สายบ้านแหลม-แม่กลอง เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนสรุปข้อมูล หากดีจะขยายไปใช้ในสายอื่น “ไพรินทร์” เผยแม้ต้นทุนจะสูงกว่า B7 ประมาณ 4 สต./ลิตร แต่ได้ช่วยเกษตรกร และลดมลพิษ เชื่อระยะยาวใช้กว้างขวางต้นทุนจะต่ำลงเอง ชี้แต่ละปีรถไฟใช้น้ำมันกว่า 88 ล้านลิตร เป็นเงินกว่า 2.5 พันล้าน ด้าน ก.พลังงานหารือค่ายรถยนต์ใช้ B10 และต่อยอดทดลองขยายไปถึง B20
วันนี้ (16 มี.ค.) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในเครื่องยนต์รถไฟ เพื่อสนับสนุนนโยบายาครัฐในการเพิ่มส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลจากปัจจุบันที่ 7% (B7) เป็นส่วนผสมที่ 10% (B10) ซึ่งจะทดลองนำร่องเดินรถไฟ สายบ้านแหลม-แม่กลอง จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 34 กม. เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.-ก.ค. 2561 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์
นายไพรินทร์กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนและพัฒนาการใช้น้ำมันปาล์มที่ผลิตในประเทศ เพื่อข่วยเหลือเกษตรกร และรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม โดยโครงการนำร่องทดลองใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 กับรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง คาดว่าจะใช้น้ำมันดีเซล B10 จำนวน 36,000 ลิตร โดยการเริ่มต้นทดลองเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ผลเบื้องต้นเป็นไปด้วยดี ซึ่งน้ำมันไบโอดีเซลนอกจากจะช่วยหลือเกษตรกรแล้วยังลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากลดกำมะถัน และมีคุณสมบัติหล่อลื่นดีอีกด้วย
ดังนั้น หากสามารถพัฒนาให้นำมาใช้ในภาคการขนส่งมากขึ้นจะช่วยภาพรวมทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยได้มอบหมายให้รถไฟพิจารณาขยายไปยังเส้นทางอื่นๆ รวมถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่ ส่วนราคาของ B10 ซึ่งสูงกว่า B7 เล็กน้อยนั้น เชื่อว่าในระยะยาวหากมีการใช้ในปริมาณมากขึ้น กลไกตลาดจะทำให้ราคาต่ำลงได้
นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กลุ่มการเดินรถของ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ในระหว่างนี้ ร.ฟ.ท.จะเชิญทางบริษัทเครื่องยนต์อย่าง คัมมิ่นส์ ประเทศไทย (CUMMINS) ซึ่งสนับสนุนอุปกรณ์ทดสอบ และมาร่วมพัฒนาปรับปรุงเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำมัน B10 และหากการทดสอบการในเส้นทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองเป็นไปด้วยดี ร.ฟ.ท.มีแผนจะนำ B10 ไปใช้ในเส้นทางวงเวียนใหญ่-มหาชัย ต่อไป
โดยแต่ละปี ร.ฟ.ท.ใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 88-90 ล้านลิตร ค่าใช้จ่ายประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งราคาของ B10 สูงกว่า B7 ประมาณ 4 สต./ลิตร และใช้ปริมาณน้ำมันต่อ กม.มากกว่าเล็กน้อย แต่เชื่อว่าหากมีการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ในระยะยาวจะสามารถช่วยประหยัดได้ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและลดมลพิษ โดยขณะนี้ช่วงทดลองร่วมกันทาง ปตท.ยังจำหน่าย B10 ให้ในราคาพิเศษ จึงไม่กระทบต้นทุนของ ร.ฟ.ท.
ก.พลังงานหารือค่ายรถยนต์ใช้ B10 และต่อยอดทดลองขยายไปถึง B20
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล และได้หารือกับผู้ผลิตรถยนต์ที่จะนำ B10 ไปใช้กับรถยนต์ รถกระบะ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ทั้งค่ายญี่ปุ่นและยุโรปก็มั่นใจในการใช้ไบโอดีเซล B10 คาดว่าได้ข้อสรุปร่วมกันในปีนี้ โดยราคา B10 สูงกว่า B7 กว่า 10 สตางค์/ลิตร
นอกจากนี้จะผลักดันให้มีการใช้ B20 ต่อไป โดยที่ผ่านมาก็มีผลการทดสอบใช้ B20 ไม่มีปัญหาเครื่องยนต์ แต่ในบางพื้นที่อาจใช้ไม่ได้เพราะน้ำมันเป็นไข อาจจะใช้ได้ในพื้นที่ภาคใต้
ด้าน น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ปตท.ได้เข้าสำรวจพื้นที่และร่วมมือกับ ร.ฟ.ท.ในการนำเสนอแผนการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้งานน้ำมันไบโอดีเซล B10 ซึ่งในระยะการทดสอบนี้จะร่วมกันเก็บตัวอย่างน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นในทุก 12,500 กม. เพื่อวิเคราะห์ถึงการพัฒนาคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมา ปตท.สนองนโยบายแก้ปัญหาปาล์มล้นตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดเก็บน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 40 ล้านลิตร (ซึ่งเทียบเท่าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 35,000 ตัน) จากเดิมที่เคยเก็บ 23 ล้านลิตร รวมทั้งสิ้น 63 ล้านลิตร เพื่อช่วยพยุงระดับราคาปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นในช่วงน้ำมันปาล์มล้นตลาด และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และเมื่อมีการปรับใช้ไบโอดีเซล B10 จะทยอยนำน้ำมันปาล์มดิบจากสต๊อกออกมาใช้ โดยราคาไบโอดีเซล B10 จะสูงกว่า B7 ประมาณ 4 สต./ลิตร ซึ่งในช่วงทดลอง ปตท.จะขาย B10 ให้แก่ ร.ฟ.ท.ในราคาพิเศษเท่ากับราคา B7”