xs
xsm
sm
md
lg

เผยปมทุบกระจกลิฟต์! “ชายพิการ” แฉ “BTS อโศก” บีบให้ลงชื่อ ปฏิเสธเรียกร้องความสนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ แถลงเพิ่มเติม เหตุทุบกระจกลิฟต์คนพิการรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะ รปภ.- ผจก.สถานีอโศก บังคับให้เซ็นชื่อทั้งที่ไม่จำเป็น และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แถมเจอประตูลิฟต์ล็อกไว้ ไม่มีใครมาเปิด เลยโมโหทุบกระจก ปฏิเสธไม่ได้เรียกร้องความสนใจ แต่อยากให้รับรู้ปัญหาผู้พิการ

จากกรณีที่ นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ อายุ 50 ปี ผู้พิการที่นั่งรถเข็นวีลแชร์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Accessibility Is Freedom ซึ่งเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ ตัดสินใจใช้มือชกกระจกบริเวณลิฟต์สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นลิฟต์ที่จัดไว้เพื่อบริการผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้บันได หรือบันไดเลื่อน ขณะที่พนักงานรถไฟฟ้าบีทีเอสและตำรวจ สน.ลุมพินี ได้นำตัวนายมานิตย์ไปดำเนินคดี เมื่อคืนวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา

วันนี้ (12 มี.ค.) ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก นายมานิตย์ ได้นำสมาชิกเครือข่ายผู้พิการแถลงข่าวอีกครั้ง ระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ตนเองลงชื่อโดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ ซึ่งตนปฏิเสธเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ที่ผ่านมาได้เดินทางมาหลายปี ทุกสถานีให้คนพิการใช้ฟรี แต่สถานีอโศกกลับให้ลงชื่อ เมื่อตนบอกว่าไม่เซ็น รปภ. จึงพาไปคุยกับผู้จัดการสถานี คุยแล้วไม่จบ เมื่อถามว่าไม่เซ็นชื่อจะเกิดอะไรขึ้น ได้รับคำตอบว่าไม่เซ็นก็เดินทางไม่ได้ จึงกล่าวว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าอย่างนั้นจะไปซื้อตั๋วเอง

จากนั้น นายมานิตย์ ได้เข้ามาซื้อตั๋ว จากนั้นได้พาตัวเออไปยังลิฟต์ พบว่าประตูถูกล็อกไว้ มองหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบ มีเพียง รปภ. ที่ตรวจค้นกระเป๋าผู้โดยสาร กระทั่งเวลาผ่านไป 5 นาที ด้วยความโมโห จึงตัดสินใจชกเข้าที่ประตูกระจก ซึ่งตนยอมรับว่าผิด แต่เรื่องลิฟต์สำหรับผู้พิการนั้นตนเรียกร้องมาหลายสิบปี ศาลปกครองก็ตัดสินให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส จัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการที่ยังขาดอีก 18 สถานี ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากศาลมีคำพิพากษา แต่ผ่านมาเกือบ 3 ปี ยังมีไม่ครบ และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ภายใน 7 วัน หากภาครัฐและบีทีเอสไม่มีความเคลื่อนไหว จะดำเนินการฟ้องกระทรวงคมนาคม บีทีเอส และกรุงเทพมหานคร

นายมานิตย์ ยืนยันว่า ที่ทำลงไปไม่ได้เรียกร้องความสนใจ ความสงสาร อย่างที่โลกโซเชียลบางกลุ่มวิจารณ์ แต่ต้องการความเท่าเทียม ให้สังคมรับรู้ปัญหาของผู้พิการ ที่ต้องทนกับการไม่ได้รับความสะดวกจากการใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งที่เปิดให้บริการมานานถึง 23 ปี แต่กลับไม่แก้ไขปรับปรุง นอกจากนี้ ลิฟต์ที่ก่อสร้างบางสถานี สร้างเป็นลิฟต์ยาวที่ขึ้นทะลุไปทุกชั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมผู้โดยสารได้ กระทบความปลอดภัยและการจำหน่ายตั๋ว สุดท้ายต้องใช้วิธีล็อกกุญแจไม่ให้ใช้บริการ ทั้งที่มีวิธีที่ง่ายกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น