MGR Online - หนุ่มวีลแชร์ทุบกระจกลิฟต์ บีทีเอสอโศก ยอมรับผิดทำลายทรัพย์สิน เหตุเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ ยันไม่ได้ทำตามกระแส แค่ต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ซัดผู้บริหารบีทีเอสไม่มีจิตสำนึก ผ่านมาแล้ว 23 ปี ปล่อยให้ปัญหาการเดินทางของคนพิการนั้นเรื้อรัง
วันนี้ (12 มี.ค.) เวลา 16.10 น. ที่ บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส อโศก นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้คนพิการและผู้ประสานงานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ เดินทางมายังบริเวณใต้สถานีดังกล่าว เพื่อชี้แจงถึงกรณีที่ใช้มือทุบกระจกลิฟต์สถานีรถไฟฟ้าจนแตกร้าว ว่า ส่วนตัวยอมรับผิดที่ทำลายทรัพย์สินของทางสถานี ก่อนหน้านี้ ใช้บริการรถไฟฟ้ามาแล้วประมาณ 3 ปี แต่มีเพียงสถานีอโศกเพียงสถานีเดียวที่แทบทุกครั้ง เวลาจะใช้ลิฟต์เจ้าหน้าที่จะต้องขอดูบัตรประจำตัวผู้พิการ ก่อนจะให้มีการเซ็นชื่อและกรอกข้อมูลส่วนตัว ซึ่งมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้เสียเวลา และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยในวันเกิดเหตุตนเองได้สอบถามและขอพบผู้จัดการสถานี แต่ยังได้รับการยืนยันว่าให้เซ็นชื่อ จึงตัดสินใจไปซื้อตั๋วรถไฟฟ้าเพื่อใช้สิทธิ์จะเดินทางเหมือนคนปกติ นอกจากนี้ ประตูกั้นก่อนเข้า - ออก ลิฟต์ที่จะเปิดเข้าไปก็มีการล็อก ต้องกดปุ่มเรียกรอให้เจ้าหน้าที่มาเปิด ด้วยความโมโห จึงกระทำการดังกล่าวไป
นายมานิตย์ เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ เคยเรียกร้องจนศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง และสั่งภาครัฐดำเนินการก่อสร้างลิฟต์เพื่อผู้พิการ แต่จนถึงขณะนี้ภาครัฐกลับนิ่งเฉย โดยอยากจะฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากสัปดาห์หน้ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะเตรียมปรึกษาฝ่ายกฎหมายออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อีกครั้ง ส่วนกรณีที่ถูกมองว่าเป็นกระทำตามกรณีป้าทุบรถหรือไม่ ขอยืนยันว่า ไม่ได้ทำตามกระแส เพียงแค่ต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทั่วไปมีเท่านั้น
ด้าน นายธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ เปิดเผยว่า เคยมีการศึกษาร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเเล้ว พบว่า งบประมาณในการติดตั้งลิฟต์ 4 จุดต่อ 1 สถานีนั้น น้อยกว่าค่าที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสียอีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ คนพิการรอมานานกว่า 20 ปีแล้ว
ขณะที่ นายสว่าง ศรีสม ตัวแทนเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า ผู้บริหารบีทีเอสไม่มีจิตสำนึก ผ่านมาแล้ว 23 ปี ยังปล่อยให้ปัญหาการเดินทางของคนพิการนั้นเรื้อรัง บริษัทสร้างกำไรในแต่ละปีมหาศาล แต่กลับละเลยปัญหาพื้นฐาน ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ จะให้คนพิการจ่ายเงินขึ้นก็ได้ เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของคนพิการเท่านั้น แต่มันหมายถึงคนทั้งสังคม เช่น ผู้คนชรา หญิงตั้งครรภ์ หากเขาเป็นภรรยาพวกคุณ คุณอยากให้เขามีความปลอดภัยในการเดินทางหรือไม่
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ธวัชเกียรติ จินดาควรสนอง ผกก.สน.ลุมพินี เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับมานิตย์ เนื่องจากทางฝ่ายผู้เสียหาย ก็คือ บีทีเอส ยังไม่ได้มีการเดินทางเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแต่อย่างใด ซึ่งการที่ นายมานิตย์ เดินทางมายัง สน.ลุมพินี ตามภาพข่าวที่ปรากฏ เป็นเพียงการมาเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น