xs
xsm
sm
md
lg

“บันไดเลื่อนบีทีเอส" หรือจะเช็กอันตรายแค่ตอนยุบ ?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตกลงไปร่างไม่แหลก! วิศวกรแจงเหตุบันไดเลื่อนบีทีเอสยุบ โอกาสเกิดน้อยมาก ของไทยปลอดภัยได้มาตรฐาน แม้ร่วงก็ไม่โดนเฟืองบดร่าง จะห่วงก็แต่ขาดการซ่อมบำรุง เผยบันไดเลื่อนไทยส่วนใหญ่ปล่อยปละละเลย ขาดการดูแล ด้านบีทีเอสเร่งซ่อมแล้ว เปิดมา 18 ปีเพิ่งเคยเกิด!

สุดช็อก ขั้นบันไดเลื่อนผลุบหายต่อหน้า!

“หล่นลงมาต่อหน้าต่อตาเลย ถ้าเราก้าวเร็วกว่านี้ 5 วิ ตายแน่ๆ หัวใจจะวาย ฮืออออ #btsพญาไท เล่าเหตุการณ์เพิ่มเติม คือกำลังจะก้าวขึ้นไป มีป้าคนหนึ่ง(ไม่รู้จัก)ลากกระเป๋าลากขึ้นไปก่อนอยู่ข้างหน้า เสี้ยววินาทีที่ป้าขึ้นไปแล้ว แล้วบันไดเลื่อนขึ้นไป1ขั้น เรากำลังจะก้าวตาม ที่ที่ป้าเคยยืน ตกลงไปข้างล่างต่อหน้าเลยจ้า แผ่นเหล็กเด้งออกมาตรงปลายเท้าเลย ช็อกมาก หัวใจจะวาย เป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่าความตายใกล้มากกว่าที่คิด เราและป้าได้ใช้แต้มบุญทั้งชีวิตเพื่อวันนี้หมดแล้วจ้า **เพิ่มเติม เรากับป้าไม่ได้รับบาดเจ็บค่า”

กลายเป็นเหตุการณ์สุดระทึก ประหนึ่งภาพยนตร์เรื่อง “Final destination” หลังจากที่เฟซบุ๊ก “Anunya Rittichai” โพสต์เล่าเรื่องราวที่ตนเองเจอเข้าระหว่างการขึ้นบันไดเลื่อนของบีทีเอสสถานีพญาไท จู่ๆ แผ่นขั้นบันไดเลื่อนที่เธอกำลังจะก้าวขึ้น ดันตกหายลงไปด้านล่าง



และที่ทำให้เจ้าของเฟซบุ๊กรู้สึกช็อกเป็นอย่างมาก นั้นก็เพราะตำแหน่งที่ขั้นบันไดหลุดไปนั้น มีผู้หญิงที่ขึ้นไปก่อนเธอยืนอยู่และก้าวออกไปเพียงไม่กี่วินาที พร้อมกันนี้เธอได้โพสต์ภาพเหตุการณ์ เผยให้เห็นพื้นของบันไดเลื่อนที่หลุดหายไปจนเกิดช่องว่าง โดยเจ้าตัวระบุว่า ทั้งตนเองและผู้หญิงที่ขึ้นบันไดเลื่อนด้วยกัน ได้ใช้แต้มบุญในชีวิตไปกับเหตุการณ์นี้หมดแล้ว

หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกส่งต่อออกไปบนโลกโซเชียลฯ ก็มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม ส่วนใหญ่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อันตรายมาก หากตกลงไปด้านล่างจะเกิดอะไรขึ้น และหลายความคิดเห็นยังตั้งข้อสังเกตไปถึงการซ่อมบำรุงของบีทีเอส ว่าได้หมั่นตรวจเช็กสภาพบันไดเลื่อนอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

“ดูแล้วน่าจะเป็นชีวิตดีๆ ที่ลงไปทั้งตัว”
“ไฟนอลเดสติเนชันมั้ยล่ะ”
“ถ้าตกลงไป ในนั้นมีอะไร อย่างนี้ควรได้นั่ง BTS ฟรีตลอดชีพไหมนั่น”
“เปิดใช้ทุกวัน วันละหลายร้อยรอบ มีการซ่อมบำรุงบ้างเปล่าเนี่ย”
“น่ากลัวจัง เคยเห็นแต่ที่จีนก็ออกจะหวั่นอยู่แล้วนะเวลาขึ้นลงบันไดเลื่อน ทีนี้เกิดในไทย เฮ้อ”

ในเวลาต่อมา ทางบีทีเอส ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “รถไฟฟ้าบีทีเอส” โดยระบุว่า หลังเกิดเหตุการณ์ที่แผ่นบันไดเลื่อนหลุดออกจากตำแหน่ง ทางบีทีเอสได้ดำเนินการแก้ไขและตรวจสอบจนแน่ใจว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐาน



พร้อมทั้งบอกว่า บันไดเลื่อนในทุกสถานี ได้รับการติดตั้งจากบริษัทชั้นนำจากยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดวงรอบการตรวจสอบดูแล และซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอด 18 ปี นับตั้งแต่เปิดให้บริการ ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน และใช้โอกาสนี้สั่งให้มีการตรวจสอบการทำงานของบันไดเลื่อนทุกตัว ในทุกสถานี เป็นกรณีพิเศษ โดยย้ำว่าความปลอดภัยของผู้โดยสารมาเป็นอันดับ 1

แม้จะมีคำชี้แจงออกมาจากทางบริษัทต้นสังกัดอย่างบีทีเอส แต่ผู้ใช้บริการหลายต่อหลายคนก็ยังไม่มีความสบายใจถึงความปลอดภัยเท่าที่ควร เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็อาจจะมีครั้งต่อๆ ไป ที่ไม่โชคดีแบบหญิงสาวรายนี้ก็เป็นได้ …

โปรดวางใจ ตกลงไปไม่โดนบด!

เหตุการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับบันไดเลื่อนในบ้านเรานี้ ทำให้นึกย้อนไปถึงอุบัติเหตุสุดสยอง เมื่อประมาณ 2 - 3 ปีก่อน ในประเทศจีน ที่มีแม่ลูกคู่หนึ่งใช้บริการบันไดเลื่อนในห้างสรรพสินค้า แต่จู่ๆ ขั้นบันไดก็หลุดจนเกิดเป็นช่องว่าง ผู้เห็นเหตุการณ์รีบเข้าช่วยเหลือ แต่น่าเศร้าที่ช่วยได้เพียงแค่เด็กน้อย เพราะแม่ของเด็กถูกกลไกของบันไดเลื่อนดูดเข้าไปจนทำให้เสียชีวิต

ก่อนที่จะตื่นตระหนกจนไม่กล้าใช้บันไดเลื่อนกันไปมากกว่านี้ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ติดต่อไปยัง บุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ(วสท.) เพื่อวิเคราะห์อุบัติเหตุในครั้งนี้ว่าเกิดจากสาเหตุใด รวมถึงให้ความรู้ความเข้าเกี่ยวกับกลไกการทำงานของบันไดเลื่อนของไทย ว่าเมื่อตกลงไป ภายในนั้นมีอะไรบ้าง

“ก่อนอื่นก็ต้องขอเรียนว่า วสท. ตรวจสอบภาพดังกล่าวแล้วว่าไม่ได้เป็นภาพที่ตกแต่งมา ตรงจุดที่เกิดข้อบกพร่องขึ้น ทางศัพท์เทคนิคเรียกว่า Missing step ครับ น่าจะเกิดจากล้อแตก เป็นการสันนิษฐานของผม น่าจะมาจากล้อบันไดมันอาจจะร้าวและแตกเลยตกลงไป คือลูกล้อที่ติดอยู่กับบันไดเลื่อน 2 ข้าง ใน 1 ข้างจะมีอยู่ 4 ล้อ ตรงที่หล่น มันอาจจะเป็นล้อ 1 ใน 4 หรือ 2 ใน 4 ที่แตก แต่ยังไงก็ต้องดูข้อมูลจากผู้ประกอบการด้วยนะครับว่ามันใช่หรือเปล่า



พอหล่นปุ๊บ มันไม่ได้หายไปเลยนะครับ มันตกลงไปเฉยๆ เหมือนกับพื้นทรุดลงไป บันไดเลื่อนมันก็จะหยุดโดยอัตโนมัตินะครับ ไม่ต้องมีคนสั่งการ ข้างล่างของมันก็จะเป็นแผ่นพื้นธรรมดา ไม่ใช่แบบในวิดีโอที่เราเคยเห็นของต่างประเทศ ที่ดูดเข้าไปเลย มันไม่มีเครื่องจักรกลที่ทำลายร่างกายได้ นอกจากอาจจะมีของมีคมบาดเท้า

ยืนยันว่าบันไดเลื่อนในไทยปลอดภัย ได้มาตรฐานเดียวกันก็คือยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น เหมือนกันหมดครับ ยกเว้นบางประเทศที่ไม่ได้ประกอบตามมาตรฐานข้างต้น บันไดเลื่อนนี่เกิดเหตุน้อยกว่าลิฟต์แน่ๆ และการเกิดเหตุก็ไม่อันตรายเท่า เพราะถ้าลิฟต์หล่น มันเป็นการตกหล่นจากช่องโล่ง บันไดเลื่อนมันเป็นระดับแนวราบธรรมดา เหมือนกับเราขึ้นบันไดที่เคลื่อนที่ได้เท่านั้นเอง”

แม้จะติดตั้งอย่างได้มาตรฐานระดับสากล แต่สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือ การดูแลรักษา เพราะ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บันไดเลื่อนในบ้านเราหลายแห่งมีการใช้งานมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ทำให้บางครั้งไม่รอบคอบเรื่องการซ่อมบำรุง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์พวกนี้ขึ้น

“สมมติถ้าบันไดเลื่อนในบ้านเราหลุดตรงที่เป็นเฟืองหมุน ทุกอย่างก็หยุดเหมือนกันครับ โอกาสที่จะหล่นไปตรงนั้น เราจะไม่ทำให้มันเกิดขึ้นเลยนะครับ คือตำแหน่งที่เป็นเฟือง เราจะมีช่องว่างไว้ก่อน มีอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อไม่ให้คนที่มีโอกาสหล่นลงไปแล้วจะไปเจอเฟือง



แต่เหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน นั่นอาจจะเป็นบันไดเลื่อนที่ประกอบมาไม่ได้มาตรฐานก็ได้ ก็พบสาเหตุแล้วว่ามาจากช่างบำรุงรักษา ขันนอตไม่ครบทุกตัว แผ่นข้อบันไดเลื่อนมันก็กระดกได้ โชคไม่ดีที่ตรงตำแหน่งที่น่าจะมีช่องว่าง มันก็เลยทำให้คนตกไปแล้วเจอตัวขั้นบันไดกับตัวโซ่เลย

ที่น่ากังวลคือบำรุงรักษานะครับ ที่ต้องเข้มงวดขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้น ผู้ประกอบการต้องชี้แจงให้ชัดเจน ว่าสาเหตุมันเกิดจากอะไร อย่าปิดบังนะครับ เพราะจะยิ่งเป็นความสงสัยของสังคมอีก เปิดเผยไปเลยว่าจากล้อแตกหรืออะไรก็ว่ากันไป ตอนนี้ทาง วสท. กำลังร่างมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัย แล้วก็จะบังคับให้ผู้ประกอบการต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าอบรมอย่างน้อย 16 ชั่วโมง ถึงจะได้ใบอนุญาตไปทำงานได้ สำหรับการบำรุงรักษานะครับ ไม่อย่างนั้นจะสร้างปัญหาให้กับสังคมอีกเยอะ”

สุดท้าย ตัวแทนจาก วสท. ได้ฝากคำแนะนำวิธีการใช้บันไดเลื่อนอย่างปลอดภัย ไปยังผู้ที่จำเป็นต้องใช้บริการบันไดเลื่อน ไม่ว่าจะเป็นทางขึ้นบีทีเอส หรือที่ใดก็ตาม ว่าต้องคอยสังเกตความผิดปกติของบันไดเลื่อนอยู่เสมอ อีกทั้งควร “จับราวบันได” ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง


ปุ่มหยุดฉุกเฉินอยู่ที่ด้านล่างของราวมือจับ ต้องใช้เฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็น (ภาพจากแฟ้ม)

“ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน แล้วจำเป็นต้องใช้บันไดเลื่อน ก็กดปุ่มหยุดสีแดงก็อยู่ตรงหัวบันไดกับท้ายบันไดนะครับ บันไดเลื่อนจะหยุดช้าๆ แล้วหยุดนิ่ง ต้องเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ ถึงจะกดหยุดได้ กว่ามันจะกลับมาใช้การได้ใหม่ต้องใช้เวลา เพราะช่างจะต้องมาตรวจสอบสภาพบันได แล้วก็ดูความปลอดภัยหลายอย่าง ถึงจะกลับมาเปิดบันไดใช้อีกครั้งครับ

ส่วนวิธีสังเกตว่าบันไดเลื่อนทำงานผิดปกติหรือไม่ ก่อนขึ้นบันได ลองสังเกตดู ลูกบันไดจะมีน้ำมันเจิ่งเยิ้มให้เห็น แล้วถ้ามันมีเสียงค่อกแค่ก มีความสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ หรือตอนอยู่บนขั้นบันไดแล้วมันร้อนหรือสั่น อันนี้ก็สันนิษฐานว่า การบำรุงรักษาไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาเกิดขึ้นส่วนใหญ่ของบันไดเลื่อนก็มาจากเรื่องนี้นะครับ

แต่ยังไงก็ตาม การใช้บันไดเลื่อนทุกครั้ง มือจับราว แล้วก็ชิดขวา - ชิดซ้าย เปิดช่องว่างของบันไดเลื่อนให้มีช่องสำหรับคนเดินได้เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย อย่ายื่นศีรษะ อวัยวะออกนอกบันไดเลื่อน แล้วก็เด็กเล็กก็จูงนะครับให้อยู่ในสายตาเสมอ จุดที่เสี่ยงที่สุด เกิดจากมือไม่จับราวบันได คนไทยขึ้นบันไดเลื่อนมักจะเผอเรอแล้วไม่จับราว จับเถอะครับ มันปลอดภัยจริงๆ”

ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Anunya Rittichai” และ “รถไฟฟ้าบีทีเอส”


กำลังโหลดความคิดเห็น