xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนเร่งรัดสมาชิกลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า ป้องกันสร้างภาระให้ภาคเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาเซียนเดินหน้าแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า สั่งเร่งทำแนวทางการออกกฎระเบียบให้ชัด ป้องกันสร้างภาระให้ภาคเอกชน พร้อมเร่งรัดข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้าอาหารสำเร็จรูป ส่วนการลดภาษีให้ชาติอื่นดีกว่าอาเซียน ต้องลดให้อาเซียนด้วย เผยยังได้ดึงบิ๊กเอกชนช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ MSMEs

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM Retreat) ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 1 มี.ค. 2561 ที่สิงคโปร์ ว่าอาเซียนได้หารือแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) โดยได้ตกลงที่จะเร่งรัดการปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดอุปสรรคและลดต้นทุนผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนในอาเซียน เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติการออกกฎระเบียบของอาเซียน ที่ต้องโปร่งใส ชัดเจน ไม่สร้างภาระต่อเอกชน, ปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเร่งรัดให้อาเซียนมีข้อตกลงยอมรับร่วมเรื่องการตรวจสอบและรับรองสุขลักษณะอาหารสำเร็จรูป ที่ขณะนี้เหลือเพียงเมียนมาและเวียดนามที่จะต้องเร่งกระบวนการภายในให้แล้วเสร็จเพื่อลงนาม รวมถึงการเร่งหาข้อสรุปเรื่องที่จะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้สิทธิประโยชน์อากรขาเข้าให้แก่ประเทศนอกอาเซียนดีกว่าที่ให้สมาชิกอาเซียนด้วยกัน จะต้องให้สิทธิประโยชน์เดียวกันนั้นกับสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

โดยในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) โดยภาคเอกชนเห็นด้วยกับการเร่งปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมลง 10% ภายในปี 2563 และยังได้ดึงเอกชนรายใหญ่ในอาเซียน ให้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ให้มีขีดความสามารถในการทำธุรกิจ และการผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ส่วนผลการประชุมอื่นๆ อาเซียนได้เร่งรัดให้สรุปผลการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนให้เสร็จในปีนี้ สร้างเครือข่ายนวัตกรรมในอาเซียนให้เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ SMEs Startup นักลงทุน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ให้ผู้ผลิตและผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนในประเทศสมาชิกอาเซียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเองได้เพื่อความรวดเร็วในการใช้สิทธิทางภาษีส่งออกสินค้าไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ASEAN-wide Self-Certification) เร่งเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้เสร็จครบ 10 ประเทศในปีนี้จากปัจจุบันที่เชื่อมโยงกันแค่ 5 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนของภาคธุรกิจในการยื่นเอกสารนำเข้า-ส่งออกสามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์เพียงครั้งเดียว และให้เร่งสรุปผลการเจรจาและลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ให้เสร็จในปีนี้ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น