MGR Online - โฆษกกรมดีเอสไอ แจงกรณีประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จำกัด ร้องเรียนกล่าวหากรณีดำเนินคดีอาญาและอายัดเงินของสหกรณ์จนเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย
วันนี้ (1 มี.ค.) คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสารโดยระบุว่า “ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 61 มีสาระสำคัญว่า ในวันดังกล่าว นายสำรวย วงษ์สนอง ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จำกัด ได้นำคณะเดินทางไปยังศูนย์บริการประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี และยื่นหนังสือ ฉบับลงวันที่ 28 ก.พ. 61 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบผลการร้องเรียน กรณีที่ตนได้ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมในกรณีที่ถูกดีเอสไออายัดเงินค่าอาหารดิบสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นเงินที่สหกรณ์ต้องนำไปชำระหนี้ให้กับตัวแทนสหกรณ์ทั้งที่ยังไม่ทำการสืบสวนและแจ้งข้อกล่าวหากับสหกรณ์ รวมทั้งอ้างถึงกรณีที่สหกรณ์ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่าศาลรับฟ้องแล้ว เป็นเหตุให้หมดความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ และประเด็นอื่นๆ นั้น
ในการนี้ เพื่อให้สาธารณชนทราบและเข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติงานของดีเอสไอ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ดังนี้ 1. เรื่องนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเดือน ต.ค. 2558 ดีเอสไอ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ในโครงการจัดซื้ออาหารดิบสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ทั้งการจัดซื้ออาหารดิบเข้าเรือนจำยังเป็นช่องทางในการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมาย ยาเสพติด และสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำ
เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเสนอขายสินค้าหรือบริการแก่รัฐที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ที่อาจเป็นคดีพิเศษ อธิบดีดีเอสไอจึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้น โดยเป็นสำนวนตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ 233/2558 อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 และต่อมา การตรวจสอบข้อเท็จจริงพบมูลความผิดเพียงพอกล่าวหาและดำเนินคดีพิเศษ จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 122/2559
2. จากการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พบว่าการจัดซื้ออาหารดิบสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์นั้น ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2532 เห็นชอบให้สิทธิพิเศษประเภทไม่บังคับแก่หน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการจำหน่ายข้าวสารและเครื่องบริโภคตามนโยบายรัฐบาล มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า หากส่วนราชการประสงค์จะซื้อสินค้าประเภทเครื่องบริโภคจากองค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด หรือสถาบันเกษตรกรที่อยู่ ในพื้นที่ใกล้ที่สุด ให้แจ้งหน่วยงานและหรือสถาบันเกษตรกรดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 3 ราย เพื่อมาเสนอราคาและให้ซื้อจากรายที่เสนอราคาต่ำสุด โดยวิธี “กรณีพิเศษ” และต่อมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พ.ย.53 ให้สิทธิพิเศษ (1) องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. (2) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อตก. (3) องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย (4) ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด และ (5) สถาบันเกษตรกร ในการจำหน่ายข้าวสาร เครื่องอุปโภคและบริโภค
กรณีดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐที่มุ่งช่วยเกษตรกรในการขายสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคให้แก่รัฐโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากสถาบันเกษตรกรเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรโดยตรง ส่วนองค์การต่างๆ ก็จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอยู่แล้ว แต่เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดจึงให้กลุ่มผู้มีสิทธิแข่งขันราคากันเองอีกชั้นหนึ่ง
เมื่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 เข้าทำการสอบสวนเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าสหกรณ์วิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ได้ใช้สิทธิในฐานะสถาบันเกษตรกรเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอาหารดิบสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขังในเรือนจำด้วยวิธีกรณีพิเศษ หลายพื้นที่ และพบว่าสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์มิได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับอาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่งและเครื่องปรุง) และมีพฤติการณ์บางประการที่อาจเข้าข่ายความผิดในการตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และมีเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกิดขึ้น จึงได้อายัดเงินดังกล่าวไว้ และมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนเอกสารที่ผู้ร้องยื่นต่อกรมเพื่อขอความเป็นธรรมก็มีการมอบให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วยแล้ว
3. ประเด็นเกี่ยวกับการอายัดเงินของสหกรณ์นั้น ผู้บริหารสหกรณ์ได้เข้าพบผู้บริหารดีเอสไอ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2561 เพื่อรับฟังคำชี้แจงแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อายัด โดยผู้บริหารสหกรณ์เข้าใจและยอมรับในเหตุผลที่มีการดำเนินคดีอาญาและการอายัดเงินในส่วนการจัดหาอาหารดิบของปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 แต่ขัดข้องในกรณีที่ถูกอายัดเงินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 200 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ไม่ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับสหกรณ์ ซึ่งในส่วนนี้อธิบดีดีเอสไอ ได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2560 ท้ายบันทึกรายงานผลการประชุมร่วมกับตัวแทนสหกรณ์ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ดำเนินการรายงานข้อเท็จจริง และประสานงานกับฝ่ายกฎหมายของกรมราชทัณฑ์แล้ว
4. สำหรับประเด็นที่ระบุว่า สหกรณ์ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และอ้างว่าศาลรับฟ้องแล้วเป็นเหตุให้หมดความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีภาพรายงานกระบวนพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฉบับลงวันที่ 20 ก.พ. 2561 ที่สหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จำกัด ฟ้องผู้บริหารและคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ดำเนินคดีในเรื่องนี้ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ปรากฏเพียงว่าศาลรับคำฟ้องไว้และกำหนดให้นัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 5 มิ.ย. 2561 เพื่อพิจารณาว่าฟ้องของโจทก์มีมูลพอที่จะรับไว้พิจารณาคดีหรือไม่เท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกฟ้องเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ผู้ร้องเข้าใจและเห็นว่าหมดความชอบธรรม ไม่เช่นนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีอาญากับผู้ใด ผู้นั้นก็ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐต่อศาลและทำให้หมดความชอบธรรมทุกกรณี ก็จะเกิดความเสียหายต่อราชการ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานที่จะแถลงหรือแสดงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบถึงการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาและให้ความเป็นธรรมต่อไป จึงชี้แจงมาเพื่อทราบ”