xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมืองมีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ ยัน “ยิ่งลักษณ์” จะยื่นอุทธรณ์ต้องแสดงตัวต่อหน้าศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - โฆษกศาลเผย พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้วมีผลพรุ่งนี้ ระบุจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ต้องแสดงตัวต่อหน้าศาล ชี้นำมาใช้กับทั้งคดีที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์และคดีใหม่ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยองค์คณะศาลฎีกา จะนำออกเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

วันนี้ (28 ก.ย.) เมื่อเวลา 17.00 น. นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณี พระราชบัญญัติประกอบประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลใช้บังคับใช้ในวันที่ 29 กันยายน ว่า ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์แล้วก็องค์ประกอบขององค์คณะที่จะพิจารณาอุทธรณ์ และหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ และวิธีพิจารณาวินิจฉัยของการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ การยื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังไม่มีพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 บทบัญญัติมาตรา 61 นั้น ได้กำหนดให้จำเลยจะต้องที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จำเลยที่ไม่ได้ถูกคุมชัง ต้องมาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น บทบัญญัติในส่วนนี้ เป็นบทบัญญัติในส่วนของวิธีพิจารณา โดยมิใช่เป็นบทบัญญัติในทางเนื้อหาสาระบัญญัติ จึงสามารถนำมาใช้ย้อนหลังกับบรรดาจำเลยในคดีใดที่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์ได้ ผลก็คือทำให้จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง เป็นผู้อุทธรณ์จะยื่นอุทธรณ์ต้องแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์มิเช่นนั้น ศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวในการใช้บทบัญญัติดังกล่าวตามบทเฉพาะการบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในส่วนที่จะดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการต่อรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อคดีใดก็ตามที่ยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ยังไม่ถึงที่สุดจึงต้องใช้บทบัญญัตินี้คือต้องให้มีตัวจำเลยมาปรากฏ ในกรณีที่จำเลยไม่ได้ถูกคุมขัง

"พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้ และจะมีผลการใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป ในบทบัญญัติมาตรา 61 นั้น กำหนดให้จำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จำเลยที่ไม่ได้ถูกคุมขัง ต้องมาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นบทบัญญัติในส่วนนี้เป็นบทบัญญัติในส่วนของวิธีพิจารณา ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในทางเนื้อหาสารบัญญัติ จึงสามารถนำมาใช้ย้อนหลังกับบรรดาจำเลยในคดีใดที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์ได้ ผลก็คือทำให้จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จะยื่นอุทธรณ์ต้องแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งในการใช้บทบัญญัติดังกล่าวตามบทเฉพาะกาลก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในส่วนที่จะดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อคดีใดก็ตามที่ยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องใช้บทบัญญัตินี้ คือต้องให้มีตัวจำเลยมาปรากฏ ในกรณีที่จำเลยไม่ได้ถูกคุมขัง" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าสำหรับ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 28 กันยายน 2560 และบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 29 กันยายน 2560 นั้น ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ได้แก่

มาตรา 25 ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้อง ไม่นับอายุความคดี กรณีจำเลยหลบหนีคดีระหว่างพิจารณาหรือหลังศาลพิพากษา มาตรา 27 ศาลรับฟ้องได้ กรณีผู้ถูกกล่าวหาถูกออกหมายจับแต่ยังไม่ได้ตัวมา ไม่มาศาลจากการประวิงคดีหรือไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร มาตรา 30 ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ กรณีจำเลยถูกออกหมายจับและไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือน มาตรา 28 ศาลรับฟ้องแล้ว ถอนฟ้องไม่ได้ มาตรา 40 จำเลยไม่มาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ทันที มาตรา 60 โจทก์-จำเลย อุทธรณ์คำพิพากษาได้ มาตรา 61 จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต้องมาศาล มาตรา 62 คดีที่จำเลยถูกพิพากษาประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ต้องส่งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษา แม้จำเลยไม่อุทธรณ์ มาตรา 63 การวินิจฉัยอุทธรณ์ ใช้องค์คณะของศาลฎีกาจำนวน 9 ท่าน มาตรา 69 และกฎหมายฉบับนี้ใช้ทั้งกับคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นและคดีใหม่

ด้าน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยถึงการยื่นอุทธรณ์คดี ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีความคืบหน้าในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องรอดูคำพิพากษากลางฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะที่จะออกมาก่อน

เมื่อถามถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ในวันนี้ ซึ่งมาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ยื่นอุทธรณ์ต้องมาแสดงตัวต่อศาลด้วย นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียดก่อน ขณะนี้ตนติดภารกิจอยู่ที่ต่างจังหวัด จึงยังไม่ได้ดูรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงมติขององค์คณะศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งที่ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ว่า ในวันที่ 27 กันยายน ในการทำคำพิพากษากลางในช่วงเช้าภายหลังจากองค์คณะเเถลงคำพิพากษาส่วนตนในที่ประชุมเเล้ว หลังจากนั้น องค์คณะมีการลงมติโดยในคดีมีการลงมติ 2 รอบ คือ รอบเเรก องค์คณะจะลงมติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งองค์คณะเสียงข้างมากมีมติ 8 - 1 เสียง ลงมติว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องส่วนองค์คณะเสียงข้างน้อย 1 คน (นายพิศล พิรุณ) ลงมติเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

ทั้งนี้ จากลงมติครั้งเเรกที่เสียงข้างมากเห็นว่ามีความผิดเเล้ว จึงได้มีการลงมติครั้งที่สอง ว่าการกระทำที่เป็นความผิด ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ซึ่งเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 1 เจ้าของสำนวนคดี 2. นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 4 3. นายธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา 4. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 5. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 6. นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ 7. นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา 8. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา 9. นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา ซึ่งยังมีหน้าที่ทำคำวินิจฉัยส่วนตนที่เขียนไว้แล้ว นำส่งศาลฎีกา นำออกเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนคำวินิจฉัยกลาง จะมีการเผยแพร่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น