“นิรันดร์” ขอขยายเวลาตรวจสอบตลาดรอบบ้าน “ป้าทุบรถ” ถึง 5 มี.ค. นี้ เหตุรายละเอียดเอกสารมีมาก ต้องใช้เวลาตรวจสอบขอก่อสร้าง ขอตั้งตลาดอย่างไร เจ้าหน้าที่คนใดเกี่ยวข้องช่วงเวลาไหน เบื้องต้นพบ 4 ตลาดยังไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ด้านผู้แทนตลาดสวนหลวงพร้อมปรับปรุงตลาดใหม่ให้ผ่านมาตรฐาน ก่อนยื่นจัดตั้งตลาดต่อเขตประเวศใหม่
ความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดตั้งตลาดรอบหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. หลังเกิดกรณี น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ ก่อเหตุทุบรถที่มาซื้อของในตลาดแล้วจอดรถขวางทางเข้าออกบ้าน ซึ่งเบื้องต้นพบว่าตลาดหลายแห่งไม่มีการขออนุญาตจัดตั้งตลาด โดยจะต้องสรุปผลเสนอต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวันที่ 28 ก.พ. นี้
วันนี้ (28 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดตั้งตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า เขตประเวศ ซึ่งมี นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภา กทม. คนที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการได้เชิญเจ้าของหรือผู้แทนตลาดทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดยิ่งนรา ตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดร่มเหลือง และ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา และสำนักงานเขตประเวศเข้าหารือและให้ข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาหลังจากที่มีการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดจริงเมื่อวันที่ 24 ก.พ. และได้รับเอกสารเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดทั้งหมดจากสำนักงานเขตประเวศและสำนักการโยธา กทม. เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา
นายนิรันดร์ กล่าวว่า ในเอกสารที่ส่งมาจะมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าความเป็นมาของการจัดตั้งตลาดเป็นอย่างไร ตั้งแต่การขออนุญาตจัดสร้างอาคารและขออนุญาตจัดตั้งตลาด ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งหมดว่ามีการดำเนินการในช่วงไหน ดำเนินการอย่างไร และมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า จากเอกสารของทั้ง 5 ตลาด มีจำนวน 4 ตลาดที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารกับทางสำนักการโยธา ซึ่งในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่นั้น สำนักการโยธาจะพิจารณาตาม พ.ร.บ. ผังเมือง และ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และมีการตรวจสอบว่ามีการก่อสร้างตามแบบหรือไม่ก่อนให้เปิดใช้อาคาร แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้แก่แห่งใด และมีการยื้อเรื่องกันไปมาในการตรวจสอบ จนกระทั่งถึงช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องไปยื่นเรื่องก่อสร้างกับทางสำนักงานเขต ก็ต้องมาพิจารณาอย่างละเอียดว่า ตลาดเริ่มมีการก่อสร้างอาคารช่วงไหน หน่วยงานใดที่ปล่อยปละละเลย อยู่ในช่วงของสำนักการโยธาดูแล หรือเปลี่ยนผ่านมาอยู่ในช่วงของสำนักงานเขตต้องดูแลแล้ว ใครดำรงตำแหน่งและเป็นผู้รับผิดชอบ และมีดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งขณะนี้ต้องขอเวลาให้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดก่อน
นายนิรันดร์ กล่าวว่า ส่วนเอกสารเกี่ยวกับผู้ร้องถึงศาลปกครองในเรื่องพื้นที่สามารถตั้งตลาดได้หรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล คณะกรรมการก็จะไม่ก้าวล่วง ส่วนที่ผู้ร้องยื่นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าผู้บริหาร กทม.มีความผิดนั้น ก็ต้องพิจารณาตามข้อสรุปของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ข้อสรุป คือ ป.ป.ช. ยกคำร้อง
“ที่ประชุมมีมติแล้วว่า เนื่องจากเอกสารทั้งหมดมีเป็นจำนวนมาก ต้องใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงของการก่อตั้งตลาดทั้ง 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าไม่น่าทันตามคำสั่งของท่านผู้ว่าฯ กทม. ที่กำหนดให้รายงานภายในวันที่ 28 ก.พ. นี้ จึงจะเสนอไปยังผู้ว่าฯ กทม. ขอขยายเวลาในการดำเนินการตรวจสอบเอกสารต่างๆ เพิ่มเติมอีก คาดว่า จะแล้วเสร็จในวันที่ 5 มี.ค. นี้ โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นการยื้อเวลา เพราะไม่รู้ว่าจะยื้อเวลาไปทำไม” นายนิรันดร์ กล่าว
เมื่อถามว่า วันที่ 5 มี.ค. จะได้ข้อสรุปเรื่องเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยเรื่องการจัดตั้งตลาดหรือไม่ นายนิรันดร์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าเอกสารจะมีรายละเอียดว่าดำเนินการขอเมื่อไร และบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง ต้องขอเวลาในการพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อน เมื่อได้ข้อเท็จจริงต่างๆ จึงจะเสนอข้อมูลและข้อสรุปต่อผู้ว่าฯ กทม. ในการพิจารณาความผิดต่างๆ ต่อไป
ด้าน นางสิรัญญา ภูวรี ตัวแทนตลาดสวนหลวง กล่าวว่า เนื่องจากเราเป็นตลาดแม่ค้า มีความรู้น้อยในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการขออนุญาตจัดตั้งตลาดกับทางเขต แต่มีข้อติดขัดบางอย่าง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการระบุว่า มีการตั้งตลาดไม่ถูกต้องก็พร้อมหยุดขาย แต่เพื่อไม่ให้ผู้ค้าซึ่งก็เป็นประชาชนคนหนึ่งต้องเดือดร้อน ทางเราก็เร่งปรับปรุงกึ่งรีโนเวตใหม่ เรื่องความสะอาด สุขลักษณะให้ได้มาตรฐาน แล้วจะยื่นขออนุญาตกับทางสำนักงานเขตอีกครั้ง ซึ่งก็แล้วแต่การพิจารณาของเขตว่าผ่านมาตรฐานที่จะอนุญาตให้จัดตั้งตลาดหรือไม่