สรุปผลสอบ 5 ตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ ไม่มีการขอใบอนุญาต มีผู้อำนวยการสำนักโยธาฯ เกี่ยวข้อง 2 คน ผอ.สำนักงานเขตประเวศ 4 คน ยันมีการดำเนินคดีตลาดทั้ง 5 แห่ง ชี้ยิ่งนราปรับสูงสุดถึง 4.7 แสนบาท ตลาดสวนหลวงโดนดำเนินคดีเกือบ 100 ครั้ง เผยทำข้อสรุปเสนอผู้ว่าฯ กทม.แล้ว อยู่ที่ดุลพินิจ “อัศวิน” ละเว้นหน้าที่หรือไม่
ความคืบหน้ากรณีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการจัดตั้งตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร หรือรอบบ้านป้าทุบรถ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ขอขยายเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ออกไป จากกำหนดเดิมวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา มาสรุปผลวันที่ 5 มี.ค. 2561 เนื่องจากมีเอกสารหลักฐานจำนวนมาก และไม่ได้เป็นการประวิงเวลา
วันนี้ (5 มี.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภา กทม.คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดตั้งตลาดรอบบ้านป้าทุบรถว่า มีความเป็นมาอย่างไร ก่อสร้างช่วงไหน ขออนุญาตอย่างไร และช่วงไหนมีหน่วยงานใดหรือผู้บริหารคนใดของสำนักการโยธา และสำนักงานเขตประเวศ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งใช้เวลาในการประชุมราว 2 ชั่วโมง
นายนิรันดร์แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นตรงกันว่าตลาดทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง ตลาดยิ่งนรา ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดร่มเหลือง ดำเนินการจัดตั้งตลาดไม่ถูกต้อง ส่วนต้นกำเนิดของการค้าขายนั้นไม่แน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด เนื่องจากเมื่อก่อนเป็นเพียงขายของตามฟุตปาธรอบบ้านผู้ร้องให้แก่ผู้ที่มาออกกำลังกาย แต่ที่ปรากฏแน่ชัดว่ามาขอดำเนินการคือเมื่อปี 2551 ที่ตลาดสวนหลวงเริ่มมาขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นตลาด และตามด้วยตลาดอื่นๆ ในช่วงเวลาประมาณปี 2553-2554 สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาดังกล่าวมี 2 ส่วน คือ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ประกอบด้วย นายจุมพล สำเภาพล ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักฯ เมื่อปี 2552-2554 และนายวินัย ลิ่มสกุล ดำรงตำแหน่งปี 2554-2556 และผู้อำนวยการสำนักงานเขตประเวศ ประกอบด้วย นายสมชาย ฉัตรสกุลเพ็ญ นางอัจฉรา ห่อสมบัติ นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า และนายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ ทั้งฝ่านสิ่งแวดล้อม ฝ่ายโยธาต่างๆ นั้นอยู่ในเอกสารต่างๆ แล้ว ซึ่งก็มีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ขอลงรายละเอียด
“หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ผังเมืองนั้น ถือว่าสามารถก่อสร้างอาคารพาณิชย์และตลาดได้ เพียงแต่ตอนนี้ผู้ร้องร้องต่อศาลปกครองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่จัดสรรสำหรับอยู่อาศัยหรือไม่ ไม่สามารถทำตลาดหรือการค้าได้ ก็ต้องรอการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลก่อน ระหว่างนี้ก็ให้ความเห็นว่าทางสำนักงานเขตควรให้ชะลอการก่อสร้างออกไปก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาล” นายนิรันดร์กล่าว
นายนิรันดร์กล่าวว่า ข้อสรุปทั้งหมดขณะนี้ได้ทำเป็นบันทึกจำนวนกว่า 10 หน้า และเอกสารประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่งให้แก่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว ส่วนที่ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เท่าที่ดูเอกสารตามข้อเท็จจริงคือ มีการดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิด เพียงแต่แต่ละช่วงเวลานั้นมีความเข้มงวดไม่เท่ากัน โดยมีการแจ้งความดำเนินคดี ยื่นศาลพิพากษาในการจับปรับ ซึ่งบางตลาดก็ถูกปรับไปสองแสนกว่าบาท ซึ่งตรงนี้อยู่ที่การพิจารณาของผู้ว่าฯ กทม.ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ว่าฯ กทม. โดยยืนยันว่าไม่ว่าจะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือเกษียณแล้วหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งมี 3 ทาง คือ ทางอาญา เช่น ผู้ร้องยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. ทางวินัย หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผิดจริง และทางแพ่ง
นายบรรลือ สุกใส ผู้ช่วยปลัด กทม. ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า หากพิจารณาการดำเนินการของแต่ละตลาด แบ่งได้ดังนี้ 1. ตลาดสวนหลวง ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นตลาดตั้งแต่ปี 2551 โดยยื่นขออนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ที่สำนักการโยธา ซึ่งได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นตลาดถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ใบอนุญาตในการจัดตั้งตลาด เนื่องจากยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์ เช่น ระบบระบายน้ำ ขยะ ยังไม่เรียบร้อย เป็นต้น ที่ผ่านมาท้องถิ่นก็ให้ดำเนินการแก้ไข เมื่อไม่แก้ไขก็มีการยื่นดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข 2. ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และ ตลาดยิ่งนรา ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นแบบพาณิชย์ ในช่วงราวปี 2553 โดยยื่นขออนุญาตทางสำนักงานเขตประเวศ ซึ่งต้องยื่นแบบและได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะก่อสร้างได้ โดยทั้งสองตลาดได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้าง และก่อสร้างอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้ใบอนุญาตจัดตั้งตลาด โดยทั้งสองตลาดต้องระงับการขาย เนื่องจากมีการขายของสด ซึ่งอาคารเชิงพาณิชย์ไม่สามารถขายได้ แต่หากมีการยื่นขอเป็นสถานประกอบการสะสมอาหารและจำหน่ายอาหาร แบบห้างสรรพสินค้า ก็สามารถกลับมาดำเนินการต่อได้
นายบรรลือกล่าวต่อว่า 3. ตลาดรุ่งวาณิชย์ เดิมได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นตลาด โดยยื่นขออนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ เช่นกัน ซึ่งการขอตามมาตรานี้สามารถก่อสร้างได้ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต แต่จะต้องมีการยื่นแบบคร่าวๆ ให้สำนักการโยธาพิจารณาก่อน แล้วค่อยยื่นรายละเอียดตามมาภายหลัง ซึ่งสำนักการโยธาจะมีการพิจารณาว่าก่อสร้างเป็นไปตามแบบหรือไม่ โดยตลาดรุ่งวาณิชย์นั้นไม่ได้แก้ไขตามที่สำนักการโยธาสั่งให้แก้ไข จึงให้ระงับการก่อสร้าง ต่อมาจึงมายื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์กับทางสำนักงานเขตประเวศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง และไม่ได้ใบอนุญาตจัดตั้งตลาด และ 4. ตลาดร่มเหลือง เป็นตลาดแบบไม่มีอาคาร ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งตลาด เนื่องจากยังไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา เช่น เรื่องห้องน้ำ จุดตั้งพักขยะ ทางเดินต้องกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร เป็นต้น
“เท่าที่พิจารณาทางสำนักงานเขตก็มีการดำเนินการฟ้องศาลเพื่อปรับดำเนินคดี เพียงแต่แต่ละช่วงมีความเข้มงวดไม่เท่ากัน ซึ่งการกระทำมากน้อยก็อยู่ที่เหตุที่เกิดขึ้นว่าช่วงนั้นเกิดเหตุหรือไม่ แต่ไม่มีใครที่ไม่ได้กระทำหรือละเว้น อย่างตลาดสวนหลวง ปี 2553-2554 ดำเนินคดีรวม 97 ครั้ง ปี 2554-2558 ดำเนินคดีรวม 66 ครั้ง ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ปี 2553-2554 ดำเนินคดี 97 ครั้ง ปี 2555-2556 ดำเนินคดี 12 ครั้ง หรือตลาดยิ่งนราก็มีการดำเนินคดีในหลายปี โดยมีการปรับสูงสุดถึง 4.7 แสนบาท มีโทษจำคุก 1 เดือนและรอลงอาญา ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กรณีเปิดตลาดก่อนการใช้อาคาร หรือตลาดรุ่งวาณิชย์ ก็เคยมีการปรับไปสูงถึง 1.5 แสนบาท ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดพระโขนงเป็นต้น” นายบรรลือกล่าว