GGC จับมือ KTIS ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยผุดโครงการก่อสร้างนำร่อง “นครสวรรค์ Biocomplex” ที่ อ.ตาคลี นครสวรรค์ บนพื้นที่ 2 พันกว่าไร่ หนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เพิ่มมูลค่าเกษตรไทย ประเดิมเฟสแรกตั้งโรงงานผลิตเอทานอล 2 แสนตัน/ปี และโรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินรวม 7.6 พันล้านบาท รองรับการลงทุนเฟส 2 ที่จะต่อยอดไปสู่เคมีและพลาสติกขีวภาพ และธุรกิจอาหารเสริม
วันนี้ (6 ก.พ.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ได้ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการลงทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในจังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และนายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ร่วมในพิธีฯ
นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) เปิดเผยว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยพันธุ์ดีของไทย ได้แบ่งโครงการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วย โรงงานผลิตเอทานอลขนาด 2 แสนตัน/ปี ไฟฟ้าชีวมวล 85 เมกะวัตต์ และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมมูลค่าโครงการ 7,650 ล้านบาท โครงการระยะที่ 2 จะเป็นการนำเอทานอลไปต่อยอดการลงทุนไปยังโรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่าการลงทุนจากการประเมินราว 10,000-30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปลายเดือน ก.พ.นี้บริษัทฯ จะร่วมกับ KTIS ไปโรดโชว์หานักลงทุนที่มีเทคโนโลยีมาร่วมลงทุนในนิคมฯ เฟส 2 หรืออาจจะซื้อเทคโนโลยีเพื่อลงทุน
ทั้งนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 60,000-75,000 บาท/ต่อคน/ปี จากอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงาน Knowledge workers / High-tech labor ในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 400 ตำแหน่ง ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนมากกว่า 180 ล้านลิตรต่อปี (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579) การพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และท้ายที่สุดคือ ช่วยส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 10,000-30,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี
นายจิรวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ 7,500 ล้านบาท โครงการผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์ ขนาด 2 หมื่นตัน/ปี เงินลงทุน 300 ล้านบาท โครงการผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ ขนาด 1.4 หมื่นตัน/ปี เงินลงทุน 800 ล้านบาท และโครงการผลิตเมทิลเอสเทอร์ เฟส 2 เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอ และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน