xs
xsm
sm
md
lg

GGC รับลูกรัฐ ชู Biocomplex ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีรวัฒน์ นุริตานนท์
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มี Polylactic Acid เป็นส่วนประกอบ
ห้องควบคุม โรงงาน GGC
Global Green Chemicals หรือ GGC บริษัทลูกของ PTT Global Chemicals ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักในปัจจุบันเป็นกลุ่มพลังงานชีวภาพ เตรียมเดินหน้าลงทุนขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) ที่จังหวัดนครสวรรค์
นับว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต New S-Curve สอดคล้องนโยบายภาครัฐ ประเทศไทย 4.0

ในปี 2559 ที่ผ่านมา GGC สามารถผลิตเมทิลเอสเทอร์ได้ 247,857 ตัน ทำมาจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลพื้นฐานที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดในตอนนี้อยู่ที่ B7 (ผสมเมทิลเอสเทอร์ 7% ในน้ำมันดีเซล) โดย GGC รับซื้อน้ำมันปาล์มในประเทศปีละกว่า 300,000 ตัน และจะใช้น้ำมันปาล์มในประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ยังสามารถผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ 97,850 ตัน ทำมาจากน้ำมันเมล็ดในปาล์ม ซึ่งนำไปใช้เป็นสารลดการตึงผิวในผลิตภัณฑ์จำพวกยาสระผม น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว น้ำยาซักผ้า โดย GGC รับซื้อน้ำมันเมล็ดในปาล์มในประเทศกว่า 120,000 ตันต่อปี หรือกว่า 67% ของน้ำมันเมล็ดในปาล์มทั้งหมดในประเทศ แฟตตี้แอลกอฮอล์ของ GGC จะขายในประเทศ 40% หรือราว 40,000 ตันต่อปี และอีก 60% จะส่งออกไปขายจีนกับอินเดียเป็นหลัก เนื่องจากมีการบริโถคสูงตามปริมาณประชากรที่สูง คิดเป็นมูลค่าจากการส่งออกกว่า 3,150 ล้านบาท

รวมทั้งสามารถผลิตกลีเซอรีน ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเมทิลเอสเทอร์และแฟตตี้แอลกอฮอล์ สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในครีม โลชั่น เภสัชภัณฑ์ชนิดน้ำ ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากได้

GGC มีโครงการที่สร้างโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ที่อำเภอหนองใหญ่จังหวัดชลบุรี มีกำลังผลิต 200,000 ตัน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลในประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว และคาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2561 ด้วยเทคโนโลยีใหม่จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดสรรค์วัตถุดิบและสามารถปรับกำลังการผลิตระหว่าง 2 โรงงานได้ให้มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ คาดว่าโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,650 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนส่วนหนึ่งจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งได้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว

ในการนี้ GGC ได้พาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม PTTGC เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทำความเข้าใจกระบวนการผลิต และนวัตกรรมขั้นสูงในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแยกส่วนประกอบของสาร การพัฒนาสารลดแรงตึงผิวที่ระคายเคืองน้อยลง หรือการทำพลาสติกชีวภาพจากอ้อย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม PTTGC สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) 2 ประเภทคือ Polylactic acid หรือ PLA ที่ใช้อ้อยมาแปลสภาพเป็นกรดแลคติก พลาสติกชนิดนี้ เมื่อย่อยสลายในที่ที่มีความชื้นและความร้อนสูง จะใช้เวลาเพียง 12-24 เดือนในการย่อยสลาย และอีกประเภทคือ Polybutylene Succinate หรือ PBS ซึ่งจะใช้เวลาในการย่อยสลายเพียง 6 เดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับพลาสติกจากปิโตรเคมีที่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 10,000 ปี ถือว่าเร็วกว่ามากและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
กรด Succinate และกรด Lactic
จีรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GGC ได้ร่วมมือกับบริษัท เกษตรกรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เสนอโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ ประกอบด้วยธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) กระแสไฟฟ้าและไอน้ำจากวัตถุดิบชีวมวล (Biomass) พลาสติกชีวภาพ (Biomass) และเคมีชีวภาพ (Biochemical) ที่จะตั้งขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบสำคัญ คืออ้อย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ Bioeconomy ของรัฐบาล

จิรวัฒน์ กล่าวเสริมว่า แผนงานในการพัฒนาโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) จะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่หนึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตน้ำอ้อยและน้ำเชื่อมจากอ้อยซึ่งมีกำลังการหีบอ้อย 2.4 ล้านตันต่อปี โรงงานเอทานอลซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 186 ล้านลิตรต่อปี ที่ใช้น้ำอ้อยหรือน้ำเชื่อมที่ผ่านกระบวนการจากโรงหีบเป็นวัตถุดิบหลัก โรงงานไฟฟ้าชีวมวลและผลิตไอน้ำความดันสูง เพื่อใช้ในโครงการฯ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุน รวมไปถึงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการออกแบบทางวิศวกรรม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ และจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562
กำลังโหลดความคิดเห็น