xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ถกวางแผนทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกับสมาชิกอียู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ถกร่วมหน่วยงานรัฐและเอกชน วางแผนทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกับสมาชิกอียูตามนโยบาย “สมคิด” เล็งเพิ่มความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส อังกฤษ ตั้งเป้าเพิ่มการค้าการลงทุน จากนั้นลุยต่อที่เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี เตรียมดึงลงทุน EEC

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาราชการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องการสานสัมพันธ์และยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Economic Partnership) กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้ดำเนินการสร้างความสัมพันธ์กับอียู ภายหลังจากที่อียูมีข้อมติเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับ

ทั้งนี้ ประเทศที่ควรจะเร่งดำเนินการก่อน คือ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพบปะหารือกับไทยเป็นประจำ โดยฝรั่งเศสมีความร่วมมือระหว่าง กกร. กับสภาองค์กรนายจ้างฝรั่งเศส (MEDEF) มีการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกัน มีการจัดประชุม Thailand-France Business Forum และการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ (High Level Economic Dialogue: HLED) เป็นประจำทุกปี ส่วนอังกฤษ มีการประชุมสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-อังกฤษ (Thai-UK Business Leadership Council : TUBLC) เป็นต้น

ส่วนกรณีที่อังกฤษอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และเจรจาเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางการค้าของไทยให้มากที่สุด ซึ่งกรมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าการเจรจาผ่านทางคณะผู้แทนอียู ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในไทย สำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา โดยหากมีความชัดเจนในเรื่อง Brexit แล้ว ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าไทยจำเป็นต้องเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอังกฤษหรือไม่ และครอบคลุมเนื้อหาแค่ไหนอย่างไร

สำหรับสมาชิกอียูอื่นๆ จะเน้นไปที่เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี เป็นต้น โดยประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเชิญชวนลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และไทยก็มีแผนที่จะนำนักธุรกิจไปเยือนและมีการลงทุนในประเทศเหล่านี้มากขึ้น

“แม้การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอียู จะหยุดชะงักและยังไม่สามารถสานต่อในช่วงนี้ได้ แต่ไทยก็สามารถยกระดับความสัมพันธ์โดยการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับสมาชิกอียูเป็นรายประเทศได้ ”นางอรมนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น