เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - รัฐมนตรีการค้าออสเตรเลีย สตีฟ ซิโอโบ(Steve Ciobo) ยืนยันวันอังคาร(23 ม.ค)ว่า 11 ชาติสมาชิกที่เหลือสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี TPP ใหม่ หรือที่รู้จักในนาม "TPP-11" หรือ ข้อตกลงความก้าวหน้าอย่างครอบคลุมสำหรับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรอบมหาสมุทรแปซิฟิก CPTPP ซึ่งคาดว่าจะสามารถร่วมลงนามได้ในวันที่ 8 มี.คนี้ที่ชิลี หลังจากออสเตรเลียและญี่ปุ่นประสบความสำเร็จล็อบบี้แคนาดาระหว่างประชุมระดับเจ้าหน้าที่การค้าในกรุงโตเกียว 2 วัน
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(23 ม.ค)ว่า ในช่วงคืนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด ได้ออกมาประกาศผ่านเวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เรียกข้อตกลงใหม่ว่า “เป็นข้อตกลงที่ใช่”
ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เจรจาการค้าที่กรุงโตเกียว ถูกจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน สามารถแก้ปัญหาสำคัญของแคนาดาได้ จากก่อนหน้าที่ยังแสดงความลังเลไม่ร่วม โดยสื่ออังกฤษชี้ว่า ทางแคนาดายังมีความกังวลในธุรกิจเชิงวัฒนธรรมของตนเองที่ต้องการปกป้อง เป็นต้นว่า อุตสาหกรรมภาพยนต์ โทรทัศน์ และเพลง
รัฐมนตรีการค้าออสเตรเลีย สตีฟ ซิโอโบ(Steve Ciobo) ยืนยันในวันอังคาร(23 ม.ค)ว่า การลงนามรับรองข้อตกลงใหม่ที่เรียกว่า TPP-11 หรือ ข้อตกลงความก้าวหน้าอย่างครอบคลุมสำหรับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) CPTPP จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนที่ประเทศชิลีในวันที่ 8 มี.คที่จะถึงนี้
สื่อธุรกิจนิเคอิเอเชียรีวิวชี้ว่า หลังจากที่มีการลงนามเกิดขึ้นที่ชิลีแล้ว ข้อตกลง TPP-11 จะมีผลบังคับใช้ก่อต่อเมื่อ 6 ชาติได้ให้สัตยาบันรับรอง ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น โตชิมิตซึ โมเตงิ(Toshimitsu Motegi) ยืนยันว่า “ทั้ง 11 ชาติจะเข้าร่วมพิธีลงนาม” และกล่าวต่อว่า “เราจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงวันที่อย่างแน่นอน”
สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าครั้งนี้ชี้แจงว่า “ถึงแม้ว่าแคนาดาจะถอนตัวออกไป แต่วันลงนามจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยมี 10 ชาติสมาชิกร่วมแทน”
เดอะการ์เดียนชี้ว่า ความเป็นจริงแล้ว การบรรลุข้อตกลงการค้า TPP รอบใหม่ถือเป็นข่าวดีของทรูโด เพราะในเวลานี้แคนาดาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงในข้อตกลงการค้าเสรีนาฟตาระหว่าง 3 ชาติอเมริกาเหนือ แคนาดา สหรัฐฯ และเม็กซิโก ที่ผู้นำทำเนียบขาว ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้พยายามที่จะรื้อทิ้ง ทำให้ทางแคนาดาต้องหาตลาดใหม่สำหรับการส่งออกของตัวเอง
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีการค้าแคนาดาได้กล่าวถึงข้อตกลงการค้า TPP-11 ผ่านแถลงการณ์ว่า การแก้ไขรวมไปถึงการพัฒนาการจัดการเกี่ยวกับยานยนต์กับประเทศญี่ปุ่น และการยุติมาตรการทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นปัญหา ซึ่งอ้างอิงจากรัฐมนตรีการค้าออสเตรเลีย พบว่าข้อตกลง TPP นั้นรวมไปถึงข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ระดับทวิภาคีระหว่าง “เม็กซิโก” และ “แคนาดา” ที่จะช่วยเพิ่มพูนช่องทางการเข้าถึงตลาดต่างๆ
ในขณะเดียวกันสำหรับในส่วนออสเตรเลีย เดอะการ์เดียนรายงานว่า แค่ในปีที่ผ่านมา พบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของการส่งออกของแดนจิงโจ้นั้นถูกส่งไปยังประเทศสมาชิกของข้อตกลงการค้า TPP- 11 โดยซิโอโบซึ่งเป็นรัฐมนตรีการค้าออสเตรเลียกล่าวว่า ข้อตกลงนั้นรวมไปถึงการยกเลิกภาษีพิกัดศุลกากรทั้งหมดในส่วนสินค้าอาหารทะเล ไวน์ เนื้อแกะ สำลี และสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตทั่วภูมิภาค
สื่ออังกฤษรายงานว่า ทั้งนี้พบว่าข้อตกลงกาค้า TPP-11 มีแผนที่จะยกเลิกภาษีพิกัดอัตราศุลกากรถึง 98% ในตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์ โดยอ้างอิงจากสื่อธุรกิจ นิเคอิเอเชียรีวิวที่กล่าวว่า ข้อตกลง TPP ใหม่ที่ไม่มีสหรัฐฯนั้นครอบคลุมถึง 12.9% ของ GDP โลกทีเดียว และมีสัดส่วน 14.9% ของการค้าโลก
ในขณะเดียวกัน อ้างอิงจากรอยเตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น โมเตงิ กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเสรีความก้าวหน้าอย่างครอบคลุมสำหรับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรอบมหาสมุทรแปซิฟิก CPTPP นั้น ***จะเป็นเสมือนจักรกลสำคัญในการเอาชนะการกีดกันทางการค้าที่ได้เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้***
โดยในข้อตกลงใหม่ TPP-11 นั้น พบว่าจากประเด็นการค้า 1,000 รายการที่มีอยู่เดิมในข้อตกลงการค้าเดิม มีการหยุดชั่วคราว 22 รายการแต่ไม่มีการถอดออกแต่อย่างใด ซึ่งทางนิเคอิเอเชียรีวิวชี้ รวมไปถึงมาตรการ 8 ปีการคุ้มครองข้อมูลการพัฒนายา ข้อกำหนดทางการค้าระดับสูงด้านอี-คอมเมิร์ซ และการคุ้มครองแรงงาน พบว่ายังคงถูกเก็บไว้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนทางญี่ปุ่นยังไม่ละความหวังที่จะนำสหรัฐฯกลับเข้าสู่ดีลการค้าเสรี TPP อีกครั้ง โดยทางรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นชี้ว่า ทางโตเกียวจะพยายามอธิบายให้วอชิงตันรับทราบถึงความสำคัญของข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP เพื่อหวังจะชักจูงให้ทางวอชิงตันเปลี่ยนใจ
ทั้งนี้นอกเหนือจากปัญหาที่ทางแคนาดายังคงต้องกันปกป้องธุรกิจภาพยนต์ โทรทัศน์ และเพลงซึ่งเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรมของตนเองแล้ว รอยเตอร์รายงานว่า ในส่วนของเวียดนามที่ร่วมเป็นสมาชิกเดิม มีความกังวลไปถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานของตัวเอง ที่ในขณะนี้ฮานอยยังอยู่ในช่วงระยะเวลาผ่อนผันสำหรับการออกกฎหมายแรงงานของตน ที่จะอนุญาตให้แรงงานในประเทศสามารถรวมตัวเพื่อตั้งสหภาพแรงงานของตนเองได้ นอกเหนือไปจากสิทธิอื่นๆที่ทางรัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องทำในการปฎิรูปเพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดอเมริกาได้
แต่ปัญหาเกิดเนื่องมาจากวอชิงตันได้ถอนตัว ทำให้ความสนใจในการปฎิรูปกฎหมายแรงงานของเวียดนามลดลง โดยนิเคอิเอเชียรีวิวชี้ว่า ทางฮานอยได้สอบถามไปยังอีก 10 ชาติสมาชิกให้ขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไป
ซึ่งทางโมเตงิชี้ว่า ในส่วนประเทศเหล่านี้จะมีการออกจดหมายนอกรอบ (side letter) ระบุกรอบข้อตกลงไปยังสมาชิกอื่นในประเด็นในระหว่างช่วงเวลาของพิธีการลงนาม