เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประกาศจะผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) เพื่อสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ให้สำเร็จลุล่วง วันนี้ (11 พ.ย.) หลังจากสหรัฐฯ ปลีกตัวไม่สานต่อข้อตกลงซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย“อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์ ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก TPP เมื่อต้นปีนี้ท่ามกลางความผิดหวังของบรรดาชาติพันธมิตร ซึ่งการถอนตัวของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดคำถามทันทีว่า ข้อตกลงซึ่งมุ่งทลายกำแพงภาษี ตลอดจนส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงาน จะไปรอดได้หรือไม่
รัฐมนตรีพาณิชย์จากกลุ่ม TPP-11 ได้เปิดหารือคู่ขนานไปกับการประชุมซัมมิตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เมืองดานังของเวียดนาม โดยบรรยากาศการหารือค่อนข้างตึงเครียดและทำท่าว่าจะเจรจากันไม่สำเร็จ ก่อนจะมีการประกาศถ้อยแถลงร่วมในเช้าวันนี้ (11) ว่า ทุกประเทศ “ยังคงเห็นพ้องในเงื่อนไขสำคัญๆ” ของข้อตกลงฉบับนี้
ฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ รัฐมนตรีพาณิชย์แคนาดา ได้ทวีตข้อความถึงการฝ่าทางตันนี้ว่า เป็น “ความคืบหน้าครั้งใหญ่”
อนาคตของ TPP เริ่มตกอยู่ในความไม่แน่นอนหลังจากสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวออกไป ซึ่งทำให้ 11 ชาติที่เหลือ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเวียดนาม มาเลเซีย ชิลี และเปรู ต้องหันกลับมาทบทวนความคุ้มค่า หากข้อตกลงนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ
การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของ ทรัมป์ ส่งผลให้ความพยายามของสหรัฐฯ ในการเปิดเสรีการค้าตลอดหลายปีที่ผ่านมาต้องชะงักงัน
ระหว่างประชุมซัมมิตเอเปกที่นครดานังเมื่อวันศุกร์ (11) ทรัมป์ ได้แสดงปาฐกถาเน้นย้ำนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” พร้อมระบุว่าสหรัฐฯ “จะไม่อดทน” กับพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม การกีดกันการค้า และการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา
“เราจะไม่ยอมปล่อยให้สหรัฐอเมริกาถูกเอาเปรียบอีกต่อไป” ทรัมป์ กล่าว
หลังจากนั้นไม่นานนัก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนก็ได้เสนอวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจาก ทรัมป์ โดยสิ้นเชิง โดยระบุว่าจีนพร้อมที่จะเป็นผู้นำการค้าเสรีรายใหม่ของโลก
TPP เป็นแนวคิดของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ที่ต้องการคานอำนาจจีน โดยจับมือกับกลุ่มประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันถึง 40% ของโลก
จีนพยายามฉกฉวยประโยชน์จากช่องว่างที่เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก TPP แม้จะยังใช้นโยบายควบคุมตลาดภายในประเทศอย่างเข้มงวดก็ตาม
ญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นให้รัฐสมาชิก TPP บรรลุฉันทามติโดยเร็ว ด้วยเกรงว่าหากยังล่าช้าออกไปอาจจะทำให้ข้อตกลงนี้ล่มไปในที่สุด และเปิดโอกาสให้จีนสยายอิทธิพลมากขึ้น
รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่แล้วเคยยกย่อง TPP ว่าเป็นเสมือน “มาตรฐานทองคำ” ที่ข้อตกลงการค้าเสรีทุกฉบับควรยึดเป็นบรรทัดฐาน เพราะไม่ได้เน้นขจัดกำแพงภาษีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุปสรรคการค้าด้านอื่นๆ และกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องมีการกำกับดูแลที่ได้มาตรฐานสากลทั้งในเรื่องกฎหมายแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
แม้ TPP-11 จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเพียง 13.5% ของโลกเมื่อไม่มีสหรัฐฯ แต่ทุกประเทศก็พยายามที่จะรักษาข้อตกลงฉบับนี้ให้อยู่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลัทธิกีดกันการค้าเริ่มมีแนวโน้มกลับมาเฟื่องฟูทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป