xs
xsm
sm
md
lg

‘สี จิ้นผิง’ สัญญายึดมั่นการค้าเสรี ขณะ ‘จีน’ สยายปีกใน ‘เอเปก’ หลังสหรัฐฯ ‘หงอย’ เพราะ ‘ทรัมป์’ ประกาศฉีกข้อตกลง TPP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (กลาง) และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ที่2 จากซ้าย) ขณะเข้าร่วมการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปกเมื่อวันเสาร์ (19 พ.ย.)  ซึ่งเป็นรายการส่วนหนึ่งของการประชุมซัมมิตกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู </i>
รอยเตอร์/เอเอฟพี - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ให้คำมั่นสัญญาระหว่างการประชุมซัมมิตผู้นำเอเปก เมื่อวันเสาร์ (19 พ.ย.) ที่จะเปิดกว้างเศรษฐกิจของแดนมังกรต่อไป พร้อมกับป่าวร้องยึดมั่นในเรื่องการค้าเสรี ขณะที่แดนมังกรก้าวเข้าไปเติมเต็มช่องว่างซึ่งถูกทิ้งเอาไว้ สืบเนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ระบุว่า จะฉีกทิ้งข้อตกลงการค้าทั้งหลายหรือไม่ก็ขอเปิดเจรจาต่อรองกันใหม่

ทุกๆ สายตาต่างจับจ้องไปที่จีน ณ การประชุมระดับผู้นำของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นในกรุงลิมา ประเทศเปรู ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย.นี้ หรือห่างเพียงสัปดาห์เศษ ภายหลังชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันแบบสุดเซอร์ไพรส์ของทรัมป์ ได้กลายเป็นการบดขยี้ความหวังทั้งหลายทั้งปวงที่ว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ซึ่งถือเป็นดีลทางด้านการค้าเสนอโดยสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมา กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่ TPP ในฐานะที่เป็นหนทางอย่างหนึ่งในการต่อต้านการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน ทว่า เวลานี้เขาได้หยุดความพยายามในการผลักดันให้รัฐสภาอเมริกันรับรองให้สัตยาบันข้อตกลงฉบับนี้ที่ 12 ชาติในทวีปอเมริกา และเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไม่ได้มีจีนอยู่ด้วย ได้ร่วมลงนามกันไปแล้ว ทั้งนี้ ตามเนื้อหาของ TPP หากสหรัฐฯยังไม่ให้สัตยาบัน ก็เป็นอันว่าข้อตกลงนี้จะไม่สามารถบังคับใช้ได้

ระหว่างการรณรงค์หาเสียง ทรัมป์ได้โจมตีคัดค้านทั้ง TPP และข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) โดยบอกว่า ทำให้สหรัฐฯต้องสูญเสียตำแหน่งงานมากมายให้แก่ต่างชาติ เขากล่าวว่าจะฉีกทิ้ง TPP รวมทั้งข่มขู่ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและเม็กซิโกด้วย

ภายหลังพบปะหารือกับโอบามา ในการประชุมข้างเคียงซัมมิตเอเปกคราวนี้ สี แถลงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่ง กับวอชิงตันกำลังอยู่ใน “ช่วงขณะแห่งความไม่แน่นอนว่าจะคลี่คลายไปทางใด” (hinge moment) พร้อมกับเรียกร้องให้ระยะผ่านเช่นนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

“ผมหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานด้วยกันโดยโฟกัสที่ความร่วมมือกัน, บริหารจัดการกับความผิดแผกแตกต่างกันของพวกเรา และทำให้มั่นใจว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นในความสัมพันธ์นี้ และมันจะยังเติบโตต่อไปข้างหน้าอีก” สีกล่าว
<i>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน พบหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ในการประชุมข้างเคียงซัมมิตเอเปก ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันเสาร์ (19 พ.ย.) </i>
ในอีกด้านหนึ่ง สีก็กำลังเสนอขายวิสัยทัศน์ทางเลือกอื่นๆ สำหรับการค้าระดับภูมิภาค ด้วยการโปรโมตผลักดันข้อเสนอเรื่องการจัดทำ ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ที่ประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน, พวกชาติคู่เจรจาของอาเซียนอีก 6 ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทว่า ไม่มีสหรัฐฯ

“จีนจะไม่เปิดประตูของตัวเองต่อโลกภายนอก แต่ยังจะเปิดกว้างให้มากขึ้นด้วย” สี กล่าวเช่นนี้ในคำปราศรัยสำคัญต่อที่ประชุมเอเปกคราวนี้ “เรากำลังจะ ... ทำให้เกิดความแน่ใจว่าดอกผลต่างๆ ของการพัฒนาจะมีการแบ่งปันกัน”

คณะของจีนที่เข้าร่วมประชุมเอเปกคราวนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และพวกผู้แทนในภูมิภาคต่างบอกว่า จีนจะเข้าฉวยคว้าฐานะผู้นำในเรื่องการค้า ถ้าสหรัฐฯหันหน้ามุ่งไปสู่ลัทธิกีดกันการค้ากันจริงๆ

คณะบริหารโอบามา กล่าววิจารณ์มาหลายครั้งแล้วว่า ข้อตกลง RCEP นั้น คับแคบและไม่ก้าวหน้าเท่าข้อตกลง TPP โดยที่ไม่ได้บรรจุเรื่องซึ่งสหรัฐฯมุ่งมั่นผลักดัน เป็นต้นว่า การคุ้มครองแรงงาน, สิ่งแวดล้อม, การเคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาทางแข็งขัน

บรรดาผู้นำของชาติที่ร่วมลงนาม TPP ได้จัดการประชุมขึ้นข้างเคียงซัมมิตเอเปกคราวนี้ด้วย และโอบามา ซึ่งกำหนดการเดินทางเที่ยวนี้ถือเป็นทริปเดินทางต่างแดนเที่ยวสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดีของเขาแล้ว ได้กล่าวเรียกร้องผู้นำคนอื่นๆ ให้ช่วยกันทำงานเพื่อผลักดันเดินหน้า TPP ต่อไป ทั้งนี้ ตามการแถลงของทำเนียบขาว

ขณะที่ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น โคโตโระ โนงามิ บอกกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมนี้ ว่า บรรดาผู้นำได้ย้ำยืนยันความสำคัญทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ของข้อตกลง TPP
<i>ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ และเหล่าผู้นำของชาติที่ร่วมลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ประชุมหารือกันเคียงข้างซัมมิตเอเปก ที่กรุงลิมา, เปรู ในวันเสาร์ (19 พ.ย.) </i>
จีนเข้าเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้น?

จากการที่ชะตากรรมของ TPP ไม่มีความแน่นอน ข้อตกลง RCEP ที่จีนหยิบยกขึ้นมาผลักดัน จึงกำลังได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย ว่า บางทีอาจจะเป็นเส้นทางเดียวสำหรับการก้าวเดินเพื่อไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีสำหรับเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด (Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP) ซึ่งเอเปกระบุว่ามุ่งมาดปรารถนาจะไปให้ถึง

“มัน (RCEP) เป็นดีลด้านการค้าตามแบบฉบับประเพณีมากกว่า เน้นเรื่องการลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ มันไม่ได้ไปไกลถึงขนาดที่ระบุเอาไว้ใน TPP” นายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ของออสเตรเลีย กล่าวกับผู้สื่อข่าว แต่ก็สรุปว่า อย่างไรเสีย “ยิ่งเราสามารถเข้าถึงตลาดสำหรับการส่งออกของเราได้มากขึ้นเท่าไร มันก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น”

ขณะที่นายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ ของนิวซีแลนด์ บอกว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญรายหนึ่งในภูมิภาคนี้ ทว่าจีนจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้น ถ้าหากคณะบริหารทรัมป์ถอยห่างออกไปจากการสนับสนุนการค้าเสรี

คีย์กล่าวว่า เหล่าชาติสมาชิก TPP อาจจะสามารถตกลงนำเอา “ความเปลี่ยนแปลงแบบปรับแต่งโฉมหน้า” เข้ามาในข้อตกลงนี้ เพื่อทำให้มันเป็นที่พอใจมากขึ้นของทรัมป์

“ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนชื่อข้อตกลงเป็น ข้อตกลงทรัมป์เพื่อความเป็นหุ้นส่วนในแปซิฟิก (The Trump Pacific Partnership) นั่นก็ใช้ได้นะ” คีย์กล่าวพร้อมกับหัวเราะ

ถึงแม้จีนเริ่มออกมาเกี้ยวพา แต่สมาชิกเอเปกบางรายยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดัน TPP ต่อไป และยังคงวาดหวังว่าสหรัฐฯจะยังคงแสดงความเป็นผู้นำในทางด้านการค้า

“จุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ของเราคืออยู่กับสหรัฐฯ นี่เห็นชัดอยู่แล้ว” ประธานาธิบดี เอนรีเก เปญา เนียโต แห่งเม็กซิโก กล่าว “นี่คือสถานที่ซึ่งสายตาของเราจับจ้องมองไป และนี่คือสิ่งที่เรากำลังทำงานเพื่อให้บรรลุถึง”

เปญา เนียโต บอกว่า ข้อตกลงนาฟตาที่ทำกันไว้ระหว่างสหรัฐฯ, เม็กซิโก และแคนาดา นั้น ควรที่จะ “ปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้น” พร้อมกับชี้ว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งที่อาจนำมาหารือกันเพื่อการปรับปรุงดังกล่าว

เม็กซิโกยังร่วมกับเหล่าชาติสมาชิก TPP อย่างญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ประกาศตั้งจุดมุ่งหมายที่จะเดินหน้า TPP ต่อไป ไม่ว่าจะมีสหรัฐฯเข้าร่วมหรือไม่ก็ตามที รัฐมนตรีเศรษฐกิจเม็กซิโก อิลเดฟอนโซ กวาจาร์โด กล่าวเมื่อวันศุกร์ (18)

ชาติสมาชิกเอเปกหลายรายบอกด้วยว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุยืนยันว่าทรัมป์ฉีกทิ้ง TPP อย่างแน่นอนแล้ว

“บารัค โอบามา ก็ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุน TPP หรอกเมื่อตอนที่เขาได้รับเลือกตั้ง แต่เขากำลังอำลาตำแหน่งไปในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนข้อตกลงนี้อย่างมากมายใหญ่หลวงที่สุด” นายกรัฐมนตรีเทิร์นบูลของออสเตรเลีย กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น