xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” พอใจเลิกค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่ว ปท. ชี้จะดันลงทุนไป ตจว.เพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ส.อ.ท.” ยันรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว! เลิกค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ โดยค่าจ้างใหม่ที่กระทรวงแรงงานประกาศขยับ 5-10 บาทต่อวันใน 69 จังหวัด เริ่ม 1 ม.ค. 60 จะส่งผลดีต่อการกระจายการลงทุนไปยังต่างจังหวัดอีกครั้ง มั่นใจปี 2560 การลงทุนภาพรวมจะดีขึ้นกว่าปีนี้

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค่าจ้างขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาให้ปรับขึ้น 69 จังหวัดและคงเดิม 8 จังหวัด โดยที่ปรับขึ้นจาก 300 บาทต่อวันจะมี 3 กลุ่ม คือ ปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน 49 จังหวัด ปรับขึ้น 8 บาทต่อวันใน 13 จังหวัด และปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน 7 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้เพื่อประกาศใช้ มีผลบังคับ 1 ม.ค. 2560 นับเป็นอัตราค่าจ้างที่สอดรับกับข้อเสนอของเอกชนที่เรียกร้องมาโดยตลอดเพื่อให้สะท้อนเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดและภูมิภาคจะส่งผลดีต่อการกระจายการลงทุนไปต่างจังหวัดมากขึ้น

“การกลับไปใช้กลไกค่าจ้างแบบเดิมที่ผ่านการกลั่นกรองโดยไตรภาคีคือสะท้อนเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเป็นสิ่งที่รัฐเดินมาถูกทาง เพราะที่ผ่านมาการใช้ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศทำให้การลงทุนในต่างจังหวัดช่วงนั้นต้องปิดตัวลงและย้ายกลับไปยังส่วนกลางเพราะต้นทุนสูงกว่าโรงงานที่อยู่ในเมืองที่ใกล้ทั้งขนส่งและวัตถุดิบ ซึ่งค่าจ้างที่ขึ้นมา 5-10 บาทต่อวันถือว่าน้อยไม่มีนัยสำคัญใดๆ ที่จะไปอ้างในการขึ้นราคาสินค้า” นายวัลลภกล่าว

อย่างไรก็ตาม ค่าแรงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งต่อการตัดสินใจลงทุน สิ่งที่เอกชนมองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญคือแรงซื้อหรือตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปีนี้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นและการลงทุนของเอกชนจะทยอยตามมา และสัญญาณที่เริ่มมีให้เห็นคือการนำเข้าสินค้าทุนของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนของไทยจะกลับมาในปี 2560 แน่นอนโดยเฉพาะจากเอกชน

สำหรับเศรษฐกิจโลกนั้น ภาพรวมหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว แต่ทั้งนี้มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอมริกาจะมีนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศอย่างไร ซึ่งทรัมป์มุ่งเน้นการบริหารภายในประเทศที่จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็จะทำให้แรงซื้อสหรัฐ เพิ่มมาก แต่อีกส่วนจะมีการดึงการลงทุนเข้าไปผลิตสินค้าเองก็อาจทำให้มีการกีดกันการค้าเพิ่ม ดังนั้นก็จะเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส
กำลังโหลดความคิดเห็น