xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม “เอเปก” หวั่นการค้าเสรีพังครืน หลัง “ทรัมป์” ได้เป็น ปธน.สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ผู้นำเปรูเรียกร้องให้กลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ร่วมกันต่อสู้ลัทธิกีดกันทางการค้า หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าระบบการค้าเสรีและเศรษฐกิจของโลกอาจตกอยู่ในความเสี่ยง

มหาเศรษฐีปากเปราะผู้นี้สามารถดึงเอาความโกรธแค้นของชนชั้นกรรมาชีพในสหรัฐฯ ที่รู้สึกว่าพวกตนถูกทอดทิ้งในโลกยุคโลกาภิวัตน์มาเป็นพลังให้กับตนเอง จนสามารถคว่ำตัวเต็งอย่าง ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตได้แบบหักปากกาเซียนเมื่อวันที่ 8 พ.ย.

ทรัมป์ ให้สัญญาว่าจะไม่ปล่อยให้จีนและเม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศที่ค่าแรงถูกกว่ามาแย่งตำแหน่งงานของคนอเมริกัน

ในการประชุมผู้นำเอเปก 21 ประเทศซึ่งจัดขึ้นที่เปรู ประธานาธิบดีเปโดร ปาโบล คักซินสกี จากชาติเจ้าภาพได้เรียกร้องให้ผู้นำในภูมิภาคมีมาตรการปกป้องการค้าเสรีที่ได้ผล ขณะที่สหรัฐฯ ก็พยายามชี้แจงให้พันธมิตรทั้งหลายคลายความกังวลเรื่อง ทรัมป์

“ลัทธิกีดกันการค้าเริ่มมีแนวโน้มครอบงำสหรัฐฯ และอังกฤษ... แต่การส่งเสริมการค้าโลกให้เติบโต และสลายลัทธิกีดกันทางการค้า คือหลักพื้นฐานที่เรายึดถือกันมาโดยตลอด” คักซินสกี กล่าวเมื่อวันศุกร์ (18 พ.ย.)

ไม่กี่เดือนก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะคว้าชัยในศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ชาวอังกฤษก็ได้ลงประชามติขอแยกตัว (Brexit) ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งส่งผลให้ระเบียบโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และอนาคตของการค้าเสรีตกอยู่ในภาวะง่อนแง่น

ทรัมป์ ประกาศจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา หวังฝากไว้เป็นอนุสรณ์ก่อนอำลาตำแหน่ง

การล่มสลายของ TPP ซึ่งมุ่งขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่ม 12 ประเทศริมมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 40% ของโลก อาจเปิดช่องให้ “จีน” ซึ่งถูกกีดกันออกจากข้อตกลงนี้ได้สยายปีกอีกครั้ง

ผู้แทนคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปกเมื่อวันพฤหัสบดี (17) ระบุว่า บรรดารัฐมนตรีต่างมีความกังวลว่าสหรัฐฯ จะกลับไปใช้มาตรการกีดกัน และบรรยากาศการประชุมโดยรวมก็เป็นไปอย่างอึมครึม

ไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ พยายามปลอบขวัญผู้นำชาติเอเปก โดยยืนยันว่าการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีจะไม่ทำให้นโยบายของสหรัฐฯ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างปัจจุบันทันด่วน พร้อมขอให้ทุกฝ่ายลองให้เวลา ทรัมป์ ทำงานสักพัก

“การเลือกตั้งเพิ่งจะผ่านไปแค่ 10 วันเท่านั้นเอง... รัฐบาลชุดใหม่ยังต้องการเวลาเตรียมตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน” โฟรแมน กล่าว

โฟรแมน อ้างถึงผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ที่พบว่า การไม่ให้สัตยาบันต่อทีพีพีจะสร้างความเสียหายแก่สหรัฐฯ มากถึง 94,000 ล้านดอลลาร์เฉพาะในช่วงปีแรก และตนเชื่อว่า ทรัมป์ มีแรงจูงใจหลายอย่างที่จะต้องผลักดันทีพีพีให้สำเร็จลุล่วง

ไบรอัน แจ็กสัน นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจาก ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ชี้ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การพังครืนของทีพีพีจะกลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับจีน”

หลายชาติที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนานเริ่มแสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific - FTAAP) ซึ่งปักกิ่งผลักดันขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับทีพีพี รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership, RCEP) ซึ่งมีรัฐสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 16 ประเทศรวมถึงอินเดีย ทว่าไม่มีสหรัฐฯ อยู่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น