บล.ทรีนีตี้ คาดเฟดขึ้น ดบ.เดือนหน้า ที่อัตรา 0.50-0.75% เชื่อผลกระทบต่อตลาดหุ้นไม่รุนแรง คาดดัชนีต่ำสุด และสูงสุดจาก 4 กรณีสำคัญ จะแกว่งตัววิ่งในกรอบ 1,400-1,510 จุด แนะจับตานโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ เร่งทำนโยบายปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% และการปรับลดภาษีเงินโอนกลับสู่ประเทศลงเหลือ 10% รวมถึงนโยบายที่จะเน้นการสร้างงานในประเทศ และการกีดกันการค้าต่าง จะกดดันตลาดเงิน และตลาดทุนต่อประเทศเกิดใหม่อย่างมีนัยในปีหน้า
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า เป็นที่แน่นอนเกือบจะ 100% ว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) ในวันที่ 13-14 ธันวาคมศกนี้ น่าจะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.50-0.75% จากเดิม 0.25-0.50% ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ ทั้งนี้ มองผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะแบ่งเป็น 4 กรณีสำคัญ ตามตัวแปรประมาณการดอกเบี้ยที่เหมาะสม (Dot plots) และประมาณการเงินเฟ้อ และจีดีพีที่จะเผยแพร่ออกมา ดังนี้
กรณีที่ Dot plots ปรับลง ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อ และจีดีพีคงที่ จะมีผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) แกว่งตัวขึ้นเล็กน้อย (Sideways up) ในกรอบ 1,480-1,510 จุด กรณีที่สองหาก Dot plots ปรับลง ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อ และจีดีพีปรับขึ้น มองว่า SET Index จะแกว่งตัว (Sideways) ในกรอบ 1,450-1,500 จุด กรณีถัดมา คือ Dot plots และประมาณการเงินเฟ้อ และจีดีพีคงที่ คาดการณ์ SET Index จะ Sideways ในกรอบ 1,450-1,500 จุด และกรณีสุดท้าย Dot plots คงที่ ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อ และจีดีพีปรับขึ้น คาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวลง (Sideways down) ในกรอบ 1,400-1,450 จุด
อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาในอดีตพบว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด มักส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ปรับตัวลงในช่วง 1-3 เดือนแรก ตามการไหลออกของเม็ดเงินลงทุน (Fund Flow) ที่กลับไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนตราสารเงิน และตราสารหนี้ที่สูงขึ้น แต่สำหรับผลกระทบในรอบนี้อาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ชุดนี้ค่อนข้างที่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งแตกต่างจากวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในอดีต ที่มักเป็นการปรับขึ้นแบบต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญมองว่า เพียงแค่การขึ้นดอกเบี้ยนั้น อาจจะยังไม่ได้เป็นการไล่สภาพคล่องในระบบให้ออกมามากนัก เพราะสหรัฐฯ ยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินค่อนข้างมาก
“เราประเมินว่า ปัจจัยที่น่ากังวลมากกว่า คือ การที่เฟด อาจยุติการลงทุนซ้ำ (Reinvest) ในตราสารที่เคยเข้าซื้อตามโครงการ QE ที่หมดอายุลง ซึ่งจะเป็นการลดทอนสภาพคล่องในตลาดที่สำคัญ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะยังไม่เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้”
สำหรับผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐภายหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด พบว่า มักปรับตัวอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนหลังจากนั้น เนื่องจากถูกขายทำกำไร ซึ่งจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่านี้ จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำ และน้ำมันให้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวประเมินว่า ในปี 2560 ราคาทองคำจะได้แรงหนุนอื่นจากภาระหนี้สหรัฐฯ และระดับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเร่งใช้จ่ายนโยบายการคลังในยุคสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนราคาน้ำมัน คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อยตามการปรับตัวเข้าสู่สมดุลของระดับอุปสงค์ และอุปทาน รวมถึงการจับมือร่วมกันลดกำลังการผลิตระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น
นายณัฐชาต กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในปีหน้า คือ ส่วนผสมของคณะกรรมการ FOMC ชุดใหม่ที่จะมีหน้าตาเปลี่ยนไป 4 คน ซึ่งโน้มเอียงไปทางสายพิราบ ที่มีความเห็นเชิงผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ (Dovish) และทำให้มีแนวโน้มสูงที่ปีหน้า เฟดจะยังคงไม่รีบร้อนดำเนินการใดๆ ที่สร้างความตกใจให้กับระบบเศรษฐกิจหรือตลาดทุน โดยล่าสุด นักลงทุนในตลาดมองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าอย่างมากเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ FOMC ประเมินไว้ที่ 2 ครั้ง ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์เราเชื่อว่า ในท้ายที่สุด เฟดอาจมีการปรับลดประมาณการดอกเบี้ยลงมาจนเท่ากับระดับที่ตลาดคาดการณ์ก็เป็นได้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องดีต่อภาวะตลาดทุนทั่วโลกในแง่ของสภาพคล่อง
อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่เป็นกังวลอย่างมากในปีหน้า ได้แก่ แนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยนโยบายลำดับต้นๆ ที่คาดว่าจะพยายามผลักดันออกมาให้เร็วที่สุด ได้แก่ การปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% และการปรับลดภาษีเงินโอนกลับสู่ประเทศลงเหลือ 10% รวมไปถึงนโยบายที่จะเน้นการสร้างงานในประเทศ และการกีดกันการค้าต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายที่เป็นลบต่อประเทศเกิดใหม่ในเชิงของกิจกรรมทางการค้า และตลาดทุน ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่า ในปี 2560 ตลาดหุ้น และค่าเงินของประเทศเกิดใหม่มีโอกาสปรับตัวต่ำกว่า (Underperform) ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ