xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่น นลท.ใน 3 เดือนหน้ายังทรงตัว ด้านเอกชนยังกังวลนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนห่วงนโยบายการค้าของ “ทรัมป์” กระทบส่งออกไทยปี 60 โตลดลงเหลือ 0-1% แนะไทยปรับนโยบายเศรษฐกิจการค้าให้สอดคล้องกับสหรัฐฯ ขณะที่ FETCO เผยแนวโน้มดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้ายังทรงตัว แนะเกาะติดปัจจัยต่างประเทศ

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวในงานสัมมนาทิศทางตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า หลังจากนายโดนัล ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 คาดว่าผลกระทบที่เกิดกับไทยจะมีต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศมากที่สุด เนื่องจากนโยบายของนายทรัมป์ จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยจะไม่สนับสนุนการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศใดๆ จะมีผลต่อทำให้การค้าระหว่างไทย และสหรัฐฯ สะดุดลง และจะยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก หรือ ทีพีพี รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน จะส่งผลกระทบทางอ้อมมาถึงการส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รวมทั้งหลายอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี เสื้อผ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จีนนำเข้าจากไทยไปผลิตต่อ ดังนั้น การส่งออกของไทยในปีหน้ามีโอกาสขยายตัวน้อยลง จากโตร้อยละ 2 เหลือโตร้อยละ 0-1 ส่วนอัตรการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะต้องมีการทบทวนอีกครั้งจากที่คาดไว้ร้อยละ 3.5

ส่วนผลกระทบด้านตลาดทุน เชื่อว่าจะเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น สะท้อนจากการที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ปรับลงแรงเมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด คงจะชะลอออกไปก่อน จากเดิมที่ตลาดคาดว่า จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ คงจะเลื่อนเป็นปี 2560 หลังจากที่นายทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง และแถลงต่อสภาคองเกรสในวันที่ 20 มกราคม 2560

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า นโยบายของนายทรัมป์ จะมีผลกระทบอย่างชัดเจนในปี 2561 เนื่องจากเป็นปีที่นายทรัมป์ จะเข้ามาบริหารราชการอย่างเต็มตัว โดยคาดว่าคงจะต้องเลือกนโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 20 จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ฟื้นตัว แต่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นหนี้สาธารณะสูงขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องขยับอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปี 2561 จากที่ปรับขึ้น 1 ครั้งในปี 2559 และ 2 ครั้งในปี 2560 จะมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่จะไม่อ่อนค่ารุนแรง เพราะไทยเกินดุลเดินสะพัดร้อยละ 10 ดังนั้น บรรเทาผลกระทบที่มีต่อภาคการส่งออก จากกรณีนายทรัมป์ ไม่สนับสนุนการค้าเสรี และมีมาตรการกีดกันการค้าของจีน ที่จะมีผลทางอ้อมของไทย

ส่วนผลกระทบต่อตลาดทุนมีค่อนข้างน้อย โดยเชื่อว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากตลาดหุ้นยุโรปยังอ่อนแอ เพราะจะมีการเลือกตั้งใน 4-5 ประเทศ และตลาดสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่จะฟื้นตัว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจนายทรัมป์ หากทำได้จริง จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้นในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า เนื่องจากนายทรัมป์ ไม่ใช่นักการเมือง จะมีความเข้าใจนักธุรกิจ และความต้องการของภาคเอกชน แตกต่างจากนโยบายของนายบารัค โอบาม่า ที่หลายนโยบายไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชน ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็ว ก็จะเป็นผลบวกกับเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน

ด้าน นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และตลาดทุนน้อยมาก เพราะเชื่อว่านโยบายด้านเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ที่จะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เน้นการลงทุนสร้างคนอเมริกันให้มีงานทำ หากทำสำเร็จก็จะให้โลกไปสู่การเติบโตในรอบใหม่ และจะทำให้สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องมายังไทยด้วย ซึ่งไทยก็จะต้องมีการปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจ และการค้าให้สอดคล้องกับนโยบายของนายทรัมป์ เพื่อให้ได้รับประโยชน์

นอกจากนี้ เชื่อว่านโยบายของนายทรัมป์ ที่ไม่เน้นการจัดสรรงบประมาณด้านอาวุธ จะเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ จะช่วยทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความรุนแรงต่างๆ จะลดน้อยลง สะท้อนได้จากประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความยินดีหลังจากผลการเลือกตั้งออกมา

ด้าน นายคเณศ วงส์ไพจิตร ผู้อำนวยการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.60) ที่ระดับ 104.55 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.68% จากการสำรวจคร้งก่อน โดยมีนโยบายทางภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนหลัก ส่วนการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะส่งผลต่อกระแสเงินทุนโดยรวมของตลาดเกิดใหม่จากการไหลของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งเป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ทั้งนี้ FETCO ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 4/59 ตลาดหุ้นไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวรับความผันผวนของเงินทุนได้บ้าง ประกอบกับนักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และญี่ปุ่น แต่เป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่มีความแข็งแกร่งเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐที่สอดคล้องเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็เริ่มแผ่วปลายแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่คลายความกังวล และเริ่มปรับตัวรับกับอิทธิพลจากกระแสการไหลของเม็ดเงินต่างชาติได้ดีขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเป็นสื่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งในปี 60

สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนนั้น แบ่งตามประเภทของนักลงทุน คือ นักลงทุนรายบุคคลมองว่า หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการน่าสนใจ ตามด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมองว่า ธุรกิจในกลุ่มที่น่าสนใจ คือ สาธารณูปโภค ส่วนนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หมวดบริการรับเหมาก่อสร้างมีความน่าสนใจที่สุด รองลงมา คือ หมวดธุรกิจเกษตร หมวดอาคารและเครื่องดื่ม หมวดธนาคาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจที่สุด แบ่งตามประเภทของนักลงทุน คือ นักลงทุนรายบุคคล มองว่าเป็นหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ ตามมาด้วยแฟชั่น และเหล็ก กลุ่มสถาบันในประเทศ เห็นว่า หมวดเหล็ก แหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคไม่น่าสนใจ ตามด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติมองว่า หมวดธนาคาร และสื่อสิ่งพิมพ์ไม่น่าสนใจ รองลงมา คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดแฟชั่น และหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ


กำลังโหลดความคิดเห็น