ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกว่า ฮือ…อ...อ! กันไปทั่วพิภพ เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ วัย 70 ปี ผู้แทนจากพรรครีพับลิกัน คว้าชัยชนะศึกเลือกตั้งประมุขแดนพญาอินทรี เตรียมขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 พร้อมด้วยพลังเสียงที่เหนียวแน่นทั้งในสภาสูงและสภาล่าง เนื่องจากสมาชิกรีพับลิกันโกยเสียงส่วนใหญ่ไป
ด้านมหาอำนาจโลกตะวันออก ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ออกโรงแสดงความยินดีแก่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมสำทับว่าในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ที่สหรัฐฯ ครองแท่นอันดับหนึ่งและจีนจ่อหลังอยู่อันดับสองนั้น จะต้องแบ่งปันความรับผิดชอบในการส่งเสริมการพัฒนาและความรุ่งโรจน์ของโลก
ด้านทรัมป์ กล่าวในการประกาศชัยชนะการเลือกตั้งฯว่า “อเมริกาจะจับมือกับชาติต่างๆ ทั้งหมด ผมขอบอกกับประชาคมโลกไว้ว่าขณะที่มุ่งผลประโยชน์สหรัฐฯ มาก่อนอันดับแรก เราก็ยังจะปฏิบัติกับทุกๆ คนอย่างยุติธรรม”
ขณะที่ฝุ่นยังตลบฟุ้งจากความรู้สึกอารมณ์ที่เร่าร้อนต่อชัยชนะของทรัมป์ ผู้ปลุกกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และกระแสต่อต้านกลุ่มอำนาจเดิม กลุ่มนักวิเคราะห์ก็ได้แต่พยากรณ์จากสิ่งที่ทรัมป์เคยพูดถึงจีนในช่วงก่อนหน้านี้ นั่นคือนโยบายกีดกันการค้า ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจการค้าของจีนและโดยเฉพาะฮ่องกงที่ตกอยู่ในภาวะชะลอตัว และในวันอังคารที่ผ่านมา สำนักสถิติแห่งรัฐจีนเพิ่งแถลงตัวเลขส่งออกและนำเข้าจีนประจำเดือน ต.ค. ตกต่ำเกินกว่าที่คาด โดยกิจการส่งออกตกลง 7.3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดนำเข้าหดหายไป 1.4 เปอร์เซ็นต์ กระตุ้นความวิตกกลัวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฉายแววการฟื้นตัวอย่างกว้างขวางได้ไม่ทันไร ก็จะมีอันสะดุดกึกลง
ทรัมป์ได้โจมตีการค้าที่ไม่ยุติธรรมระหว่างเดินสายหาเสียงเลือกตั้ง และบอกว่าเขาจะตีตราว่าจีนแทรกแซงค่าเงินหยวน และจะโต้ตอบด้วยมาตรการภาษี โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 45 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกลุ่มสินค้าจากจีนที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ
ในการโต้วาทีรอบแรกของผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ทรัมป์ได้พูดอีกว่า “คุณดูสิ จีนทำอะไรกับประเทศของเรา...พวกเขาลดค่าเงินของตัวเอง และไม่มีใครในรัฐบาลของเราลุกขึ้นสู้ตอบโต้เลย พวกเขาใช้เงินจากกระปุกออมสินของเราไปสร้างประเทศจีน”
และทัศนะดังกล่าวก็ได้รับการรับรองจากผู้ออกเสียงอเมริกัน
จากการวิเคราะห์ของนาย เควิน ไหล (Kevin Lai) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำกองเอเชียของ ไดวา แคปิตัล มาร์เก็ตส์ (Daiwa Capital Markets) บอกกับสื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ว่า คำกล่าวข้างต้นของทรัมป์จะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนที่ยังพึ่งพิงการส่งออกอยู่ และจะพ่นพิษใส่ฮ่องกงอ่วมเนื่องจากเศรษฐกิจดินแดนนี้ยังขึ้นกับการส่งออกอยู่สูง
นายไหล เขียนในรายงานก่อนหน้านี้ว่า “หากมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 45 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ยอดมูลค่าการส่งออกสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลง 420,000 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ซึ่งจะหั่นจีดีพีจีนลง 4.82 เปอร์เซ็นต์ การสูญเสียน้ำเลี้ยงจีดีพีหรือการชะลอตัวของจีดีพีในระดับนี้ จะทำให้เศรษฐกิจโงนเงนน่าวิตกไม่น้อยเลย”
หากสงครามการค้าระเบิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อฮ่องกงที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่เสรีที่สุดในโลก ไม่เพียงภาคการค้าและโลจิสติกส์ ยังลามไปยังภาคอื่นๆ ด้วย
“เมื่อกระแสวิตกลัทธิกีดกันการค้าของทรัมป์แผลงฤทธิ์ และความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ แย่ลง ก็จะจุดชนวนความวุ่นวายในตลาดเงินโลก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกง” เจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งโนมูระ ระบุไว้ในรายงานก่อนประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ผลกระทบดังกล่าวจะลามไปถึงภาคอุตสาหกรรม
ในปีที่แล้ว (2015) การส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ สินค้าจากภาคสิ่งทอประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์, ยาง 21 เปอร์เซ็นต์ และสินค้าที่มีฐานจากภาคโลหะ 13 เปอร์เซ็นต์
“กลุ่มผู้ส่งออกอย่างเช่นบรรดาบริษัทสิ่งทอ และภาคอุตสาหกรรมเหล็กที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกง จะบาดเจ็บกันระนาว” ฮันน่าห์ หลี่ (Hannah Li) นักวางแผนยุทธศาสตร์ของ บริษัทหลักทรัพย์ UOB Kay Hian กล่าวพร้อมชี้ถึงสัญญาณเตือนภัยในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะโดนหางเลขจากกำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ
ผลการเลือกตั้งประมุขแดนอินทรีหนนี้ พรรครีพับลิกันยังได้กุมเสียงใหญ่ทั้งในสภาซีเน็ตและสภาผู้แทนฯ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มหัวเก่าในรีพับลิกัน ที่สนับสนุนการค้าเสรีมากกว่า แฟรงค์ ลี (Frank Lee) หัวหน้าหน่วยการลงทุนของ DBS ชี้ และเขาคิดว่ากลุ่มหัวเก่านี้จะช่วยสกัดทรัมป์ดำเนินนโยบายอย่างดุเดือดดั่งที่เขาลั่นวาจาไว้ในตอนหาเสียงเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทุกคนก็มีท่าที “รอและดู” มากกว่า ว่าทรัมป์จะดำเนินมาตรการที่ก่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามที่เขาประกาศในตอนหาเสียงฯหรือไม่ จาง อี่ว์ ผู้ช่วยอาจารย์ด้านการบริหารจัดการที่วิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศจีน-ยุโรป (China European International Business School) กล่าว
นาย จาง อี่ว์ ยังชี้ว่า “ขณะนี้จีนกำลังปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยหันมาผลักดันการบริโภคภายในขึ้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจ และลดพึ่งพิงการส่งออกหรือการผลิต ซึ่งจะช่วยเพลาผลกระทบหากอเมริกันหันมาใช้ลัทธิกีดกันการค้ามากขึ้น”
อีกด้าน นายหม่า เจิ้งกัง อดีตประธานสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศแห่งจีน (China Institute of International Studies) ออกมากล่าวแนวโน้มในเชิงบวกโดยอ้างประสบการณ์ของตนที่ได้ติดตามการเลือกตั้งสหรัฐฯตั้งแต่ช่วงปีทศวรรษ 1980 “ไม่ว่าใครจะครองทำเนียบขาว และคองเกรส ความสัมพันธ์ชิโน-สหรัฐฯ ก็ยังคงอยู่ในระดับที่มั่นคงมาตลอดหลายปี โดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถปล่อยให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีตกอยู่ในสภาพเสี่ยงอันตราย เนื่องจากทั้งสองฝ่ายจะรับผิดชอบผลที่ตามมาไม่ไหวกัน
อีกด้านหนึ่ง นาย จู จื้อจวิน อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย บัคเนลล์ เพ็นซิลวาเนียชี้ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่ใช่ภารกิจสำคัญอันดับแรกของทรัมป์ หะแรก เขาจะต้องยุ่งอยู่กับการสะสางปัญหาภายในก่อน พร้อมๆไปกับการตรวจสอบและสร้างหลักประกันในการรักษาพันธมิตรสหรัฐและคู่หุ้นส่วนในโลกอันแสนวุ่นวายใบนี้
“นโยบายจีนของทรัมป์ไม่มีความชัดเจนใด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเขาไม่มีประสบการณ์ในการติดต่อกับจีนนัก ไม่มีเรื่องประทับใจติดใจเกี่ยวกับจีน” นาย จู กล่าว แต่ก็เตือนว่า “จีนอาจกลายเป็นแพะรับบาปหากประธานาธิบดีใหม่ไม่สามารถจัดการปัญหาภายในได้อยู่หมัด เป็นไปได้ว่าหากเศรษฐกิจไม่กระเตื้อง รัฐบาลสหรัฐฯก็จะมองหาแพะในจีน และความสัมพันธ์ก็จะตึงเครียดขึ้นมา”