เอเจนซีส์ - รายงานเวิลด์แบงก์ฉบับล่าสุดระบุ เศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของการผลิตและการค้า พัฒนาการในพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ความเชื่อมั่นในตลาดที่ฟื้นคืน และราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพขึ้น จึงนับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ธนาคารโลกไม่ต้องปรับลดการคาดการณ์รอบกลางปี อย่างไรก็ดี รายงานเตือนความเสี่ยงจากลัทธิกีดกันการค้าและนโยบายที่ยังไร้ความแน่นอนของทรัมป์ ตลอดจนถึงปัญหาหนี้และการขาดดุลที่พุ่งขึ้นของตลาดเกิดใหม่
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังคงได้รับการคาดหมายว่า จะเติบโตแข็งแกร่งในอัตรา 2.7% ในปีนี้ และขยับเป็น 2.9% ในปี 2018 และ 2019 อันเป็นผลจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตและการค้าโลกหลังจากซบเซามานาน 2 ปี และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ธนาคารโลกไม่ต้องปรับลดการคาดการณ์รอบกลางปี
สำหรับปัญหาต่างๆ ที่อาจทำให้การฟื้นตัวที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ต้องสะดุดและถึงกับตกรางนั้น มีตั้งแต่เรื่องความกดดันในตลาดการเงินจากการปรับตัวรับดอกเบี้ยขาขึ้นของอเมริกา ไปจนถึงความไม่แน่นอนของราคาน้ำมัน และความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในยุโรป
ทว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยสองรอบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตลาดมีปฏิกิริยา “ค่อนข้างดี” เช่นเดียวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรปที่ลดลงอย่างชัดเจน และราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพหลังจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันตกลงขยายข้อตกลงจำกัดการผลิต
ขณะเดียวกัน ตลาดเกิดใหม่ใหญ่ที่สุด 7 ชาติ ได้แก่ จีน บราซิล เม็กซิโก อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี และรัสเซีย ยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญผลักดันเศรษฐกิจโลก
ธนาคารโลกคาดว่า ตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราขยายตัวในปีนี้ 4.1% นำโดยอินเดีย 7.1% และจีน 6.5% สำหรับรัสเซียและบราซิลถูกคาดหมายว่า จะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากเศรษฐกิจหดตัวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจะยังคงขยายตัวเช่นเดียวกันแต่ในระดับพอประมาณเท่านั้น โดยอเมริกาถูกคาดหมายว่า จะขยายตัว 2.1%, ยูโรโซน 1.7% และญี่ปุ่น 1.5%
จิม ยองคิม ประธานธนาคารโลกแถลงว่า ประเทศต่างๆ ควรอาศัยจังหวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว เดินหน้าปฏิรูปสถาบันและตลาดที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนและส่งผลให้การเติบโตยั่งยืนในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ไอฮัน โคเซ หัวหน้ากลุ่มแนวโน้มการพัฒนาของธนาคารโลกที่เป็นผู้จัดเตรียมรายงานการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์ปีละ 2 ฉบับนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะลัทธิกีดกันการค้าและการสกัดกั้นคนเข้าเมืองภายใต้คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังส่งผลเฉพาะหน้าอย่างแท้จริงซึ่งอาจบ่อนทำลายการเติบโต
รายงานของธนาคารโลกแจกแจงเรื่องนี้เอาไว้ว่า การกีดกันการค้าอาจนำมาซึ่งมาตรการตอบโต้ ซึ่งบั่นทอนทั้งอเมริกาและประเทศคู่ค้า นอกจากนี้นโยบายคนเข้าเมืองยังอาจฉุดรั้งการเติบโต บริษัทต่างๆ อาจชะลอการตัดสินใจและเลื่อนการลงทุนเนื่องจากขาดนโยบายที่แน่นอน เช่น บริษัทที่ดำเนินการในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ที่ทรัมป์กำลังเปิดเจรจาใหม่
โคเซตั้งข้อสังเกตว่า การชะลอการลงทุนขั้นรุนแรงในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาปรากฏให้เห็นแล้วในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
การที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน เนื่องจากไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ โดยนโยบายที่ไร้ความแน่นอนมากขึ้นจะยิ่งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นและการลงทุน และเพิ่มความกดดันในตลาดการเงิน
ขณะเดียวกัน หนี้และยอดขาดดุลที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดเกิดใหม่มีความเสี่ยงต่อความผันผวนทางการเงิน โดยรายงานระบุว่า ครึ่งหนึ่งของประเทศเหล่านี้มีหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีความเสี่ยงอย่างมาก หากเศรษฐกิจชะลอตัวหรือมีการขึ้นดอกเบี้ย
โคเซแนะนำให้ผู้วางนโยบายให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านั้นและปรับปรุงมาตรการจัดเก็บภาษีและการจัดการหนี้ ตลอดจนถึงใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รายงานฉบับนี้ออกเผยแพร่หลังจากที่ทรัมป์ประกาศนำอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนเมื่อวันพฤหัสบดี (1) กระนั้น โคเซระบุว่า ประเทศต่างๆ รับรู้รูปแบบการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติธรรมชาติและความแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากอยู่แล้ว
เขาทิ้งท้ายว่า ความเสี่ยงเหล่านี้มีความสำคัญ และธนาคารโลกมีพันธะผูกพันในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำลังทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อรับมือความเสี่ยงที่เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพลังงานสะอาด แนวทางเกษตรกรรมอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นเมืองที่ยั่งยืน และการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ