เกิดวิกฤตในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกรอบแล้วเมื่อกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งมีซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน เยเมน อียิปต์ และมัลดีฟส์ ได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตและด้านอื่นๆ กับกาตาร์ในวันจันทร์ที่ 5 ที่ผ่านมา
เกิดความสับสน คนในประเทศเหล่านี้ต้องอพยพเคลื่อนย้ายออกจากกาตาร์ เด็กต้องย้ายโรงเรียน ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การเงินการธนาคาร การลงทุน จะเป็นผลอย่างไร เสียหายมากเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความไม่ลงรอยกัน
สถานการณ์ล่าสุดจะทำให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ในโลกอาหรับ สร้างวิกฤตในด้านดุลความสัมพันธ์ระหว่าง 2 นิกายของอิสลาม คือซุนหนี่และชีอะห์ เกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เช่น อัลกออิดะห์ ไอซิส หรือไอเอส และชาติมหาอำนาจต่างๆ
เหตุของการตัดความสัมพันธ์คือกาตาร์ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการก่อการร้าย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน สนับสนุนกลุ่มกบฏฮูติซึ่งกำลังพยายามยึดรัฐบาลในเยเมน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียนำกองทัพพันธมิตรอาหรับทำสงครามล้างผลาญยืดเยื้อ
เป็นความร้าวฉานระหว่างชาติอาหรับกลุ่มนี้กับกาตาร์อีกรอบ จากครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งมีการตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์แบบนี้นานหลายเดือนกว่าจะมาคืนดีกัน ครั้งนั้นเยเมนไม่ได้ร่วมตัดความสัมพันธ์ด้วย ครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤตทางการทูตครั้งใหญ่ที่สุด
สร้างความไม่แน่นอนในตลาดน้ำมันระดับหนึ่ง แม้กาตาร์จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 6 แสนบาร์เรลต่อวัน ไม่มากนักเมื่อเทียบกับสมาชิกกลุ่มโอเปกอื่นๆ สาเหตุของความไม่พอใจกาตาร์มีต้นตอมาจากซาอุดีอาระเบียซึ่งมองว่ากาตาร์แตกแถวแล้ว
นักวิเคราะห์มองว่าซาอุดีอาระเบียต้องการเป็นพี่เอื้อยใหญ่ในภูมิภาค ดังนั้น การทำตัวอิสระโดดเดี่ยวของกาตาร์ มีนโยบายเป็นอิสรภาพ ไม่เอาอยู่ใต้อาณัติของใครย่อมทำให้ซาอุดีอาระเบียมองกาตาร์ว่าเป็นเด็กมีปัญหา ไม่ยอมสยบต่อทุกอย่างในท้องถิ่น
ขณะเดียวกันกาตาร์ถูกมองว่าเป็น “เด็กหัวแข็ง” ไม่ยอมสังกัดภายใต้ประเทศใด ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชาติซาอุดีอาระเบียจะเกิดอาการหมั่นไส้ เร่งหาบทเรียนหลักสูตรเร่งร้อน เร่งรัดภายใต้ความร่วมมือของสภาความร่วมมือของชาติในอ่าวเปอร์เซียนั่นเอง
เดิม Gulf Cooperation Council มีกำหนดประชุมสมาชิกปลายปีนี้ เมื่อเกิดปัญหาน่าจะมีการเลื่อนออกไปก่อนเพื่อประเมินท่าทีของประเทศต่างๆ นอกกลุ่ม
ถ้าไม่สามารถตกลงคืนดีกันได้ในกลุ่มชาติอาหรับ จะทำให้การแบ่งกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและสะท้อนให้เห็นภาวะเสี่ยงต่อวิกฤตรุนแรง เพราะเป็นการเลิกคบกันทุกรูปแบบทั้งการเมือง การค้า การคมนาคม ธุรกิจสายการบินและด้านอื่นๆ
กาตาร์ต้องเรียกตัวเอกอัครราชทูต ปิดสถานทูตในหลายประเทศซึ่งร่วมสะบั้นความสัมพันธ์ทุกด้าน ไม่คบค้าสมาคมด้วยกัน สายการบินของชาติอาหรับจะไม่บินไปกาตาร์ จะทำให้เกิดปัญหาด้านความไม่สะดวกในธุรกรรมการค้า การเงิน การเมือง
แผ่นดินกาตาร์เป็นติ่งงอกออกไปในอ่าวเปอร์เซีย จะประสบปัญหาในการนำเข้าอาหาร มีชายแดนภาคพื้นดินติดกับซาอุดีอาระเบีย เมื่อถูกปิดพรมแดนก็ต้องพึ่งการขนส่งทางเรือผ่านเมืองท่าโดฮาและทางอากาศ ชาวกาตาร์ซึ่งอยู่อาศัยและทำงานในชาติอาหรับเหล่านั้นมีเวลาเพียง 14 วันเพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านหรือไปที่อื่นๆ
ชาวกาตาร์คนไหนมีงานทำ ลงหลักปักฐานในประเทศเหล่านั้นก็ต้องอพยพออกไปอย่างไม่มีเงื่อนไข ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องจำหน่ายจ่ายโอนในราคาที่โดนกดต่ำแน่ๆ ระยะเวลาที่เหลือจะมีปัญหาในการทำธุรกรรม เป็นวิกฤตชีวิตจริงๆ
กาตาร์มีประชากรเพียง 2 ล้านกว่าคนยังเป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพอากาศใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มนักรบญิฮาด “รัฐอิสลาม” เมื่อเป็นเช่นนี้สหรัฐฯ จะยังคงรักษาโอกาสเพื่อใช้ฐานต่อไป
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมททิส บอกว่าความเปลี่ยนแปลงไม่เกิดผลกระทบต่อสหรัฐฯ และการคงอยู่ในย่านอ่าวเปอร์เซีย การสู้รบในภูมิภาคนั้นยังคงมีอยู่ต่อไป สหรัฐฯ คงไม่ปรับแผนด้านยุทธศาสตร์ และยังคงความสัมพันธ์ไม่มีผลกระทบ
กาตาร์ยังมุ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 แม้จะยังมีเวลาอีกหลายปี ถ้าไม่มีเหตุอะไรเปลี่ยนชาติอาหรับที่ตัดความสัมพันธ์คงไม่ส่งทีมฟุตบอลเข้าร่วมแข่งขัน เว้นแต่จะอ้างว่าการเมืองและกีฬาไม่เกี่ยวข้องกัน ยังไม่เห็นแนวโน้มชัด
เมื่อตัดสัมพันธ์ทางการทูตโดยสมบูรณ์ กาตาร์ต้องถอนตัวเจ้าหน้าที่ทูตออกจากกลุ่มชาติอาหรับเหล่านั้น กาตาร์เองก็อยู่ในสภาวะระหองระแหงกับสหรัฐฯ เช่นกันเพราะสำนักข่าวอัลจาซีเราะห์ซึ่งกาตาร์เป็นเจ้าของ มักเสนอข่าวแนวสนับสนุนกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงและไม่มีนโยบายออกกฎหมายต่อต้านธุรกรรมการเงินของกลุ่มก่อการร้ายด้วย
เมื่อถูกบีบเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่ากาตาร์จะโน้มเอียงเข้าหาอิหร่านซึ่งปัจจุบันมีปัญหาด้านนิกายมุสลิมกับกลุ่มชาติอาหรับนำโดยซาอุดีอาระเบีย อิหร่านนับถืออิสลามนิกายชีอะห์ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียและชาติอื่นๆ นับถือนิกายซุนหนี่ จึงขัดแย้งกันรุนแรง
กาตาร์เองก็มีบทบาทในการสนับสนุนหัวรุนแรง เช่น กลุ่มฮามาสในเลบานอน กลุ่มกองกำลังปาเลสไตน์ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อชาติอาหรับซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ ผู้ครองนคร เสี่ยงต่อการถูกบ่อนทำลาย
ชาวบ้านเร่งไปซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นต่างๆ เพื่อกักตุนไว้เพราะไม่มั่นใจว่าจากนี้ไปสินค้าอาจขาดแคลน หายาก ราคาแพงขึ้น การขนส่งสินค้าจะไม่ง่ายอีกแล้ว