xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ปกครอง 'คูเวต' บินหารือกษัตริย์ซาอุฯ เป็นคนกลางช่วย'กาตาร์'ง้อกลุ่มชาติอาหรับ เผยสนามบินโดฮาเหงาหนัก แบงก์ปท.อื่นก็ถอยฉากไม่ทำธุรกิจด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เครื่องบินสายการบินกาตาร์แอร์เวยส์ ขณะบินผ่านกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ในวันจันทร์ (5 มิ.ย.)  ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และอียิปต์ นำขบวนรัฐอาหรับ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตและการติดต่อทางอากาศกับกาตาร์ ซึ่งรวมถึงการปิดน่านฟ้าของพวกตนไม่ให้เที่ยวบินพาณิชย์ของกาตาร์บินผ่านด้วย <i>
รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ขณะที่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต, การติดต่อคมนาคม, และด้านอื่นๆ อย่างฉับพลันของเหล่ารัฐอาหรับนำโดยซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), และอียิปต์ กำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อกาตาร์ในวันอังคาร (6 มิ.ย.) ทั้งในรูปของการสัญจรทางอากาศที่เพิ่มความลำบากขึ้นมาก, ธนาคารจำนวนหนึ่งในภูมิภาคเริ่มถอยห่างไม่ติดต่อธุรกิจกับชาติริมอ่าวเปอร์เซียที่มีขนาดเล็กๆ แต่ร่ำรวยด้วยก๊าซและน้ำมันแห่งนี้, และผู้คนจำนวนมากเข้าแถวรอซื้ออาหารและข้าวของนำเข้าที่คาดการณ์กันว่าจะขาดแคลน รวมทั้งยังสร้างความวิตกกังวลให้แก่ฟิลิปปินส์ซึ่งมีแรงงาน 2 แสนคนพำนักอยู่ในกาตาร์ ทางด้านผู้ปกครองของกาตาร์เองยังคงแสดงการหนุนหลังให้ใช้การเจรจาหารือเพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการทูตคราวนี้ โดยมีคูเวตทำหน้าที่เป็นคนกลางสำคัญที่สุด ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า เอมีร์ของคูเวตกำลังเดินทางไปหารือกับกษัตริย์ซาอุฯด้วยตนเอง

รัฐมนตรีต่างประเทศ ชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล-ษานี ของกาตาร์แถลงในวันอังคาร (6) ว่า กรุงโดฮาพรักพร้อมสำหรับการดำเนินความพยายามเพื่อการไกล่เกลี่ยรอมชอมกัน หลังจากที่ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, ยูเออี, และบาห์เรน ได้ประกาศแบบมีการติดต่อประสานกันล่วงหน้าเมื่อวันจันทร์ (5) ตัดสายสัมพันธ์ทางการทูตที่มีอยู่กับกาตาร์ รวมทั้งปิดน่านฟ้าของพวกเขาไม่ให้เที่ยวบินพาณิชย์ต่างๆ ของโดฮาผ่าน ตลอดจนระงับเที่ยวบินพาณิชย์ต่างๆ ของพวกเขาที่ไปยังกาตาร์

ประเทศเหล่านี้กล่าวหาว่า สาเหตุสำคัญของความเคลื่อนไหวคราวนี้คือการที่กาตาร์สนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอย่าง กลุ่มภราดรภาพมุสลิม, “รัฐอิสลาม” (ไอเอส), อัลกออิดะห์ ตลอดจนกลุ่มอื่นๆ ที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ โดยที่โดฮาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างโกรธเกรี้ยว

เวลาต่อมา เยเมน, รัฐบาลที่ตั้งฐานอยู่ทางภาคตะวันออกของลิเบีย, และ มัลดีฟส์ ได้แถลงเข้าร่วมการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและการติดต่อคมนาคมกับกาตาร์ด้วย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในตอนเช้าวันอังคาร (6) ท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด ในกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ อยู่ในสภาพแทบจะเป็นสนามบินร้าง บนจอทีวีของท่าอากาศยานแสดงให้เห็นว่ามีเที่ยวบินที่ถูกระงับไปมากกว่า 30 เที่ยว และอาคารผู้โดยสารขาออกก็เงียบเหงายิ่ง
<i>ผู้คนเข้าแถวซื้อของในร้านแห่งหนึ่งของกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ เมื่อวันจันทร์ (5 มิ.ย.) ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียได้ประกาศปิดชายแดนที่ติดต่อกับกาตาร์  เท่ากับเป็นการปิดกั้นอาหารและสินค้าอื่นๆ ซึ่งส่งออกโดยทางบกไปยังกาตาร์  ทำให้มีรายงานว่าเริ่มมีผู้คนในประเทศนี้ออกกว้านซื้อกักตุนสินค้าโดยเฉพาะอาหาร</i>
เนื่องจากซาอุดีอาระเบียยังประกาศปิดชายแดนทางบกที่ติดต่อกับกาตาร์ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการส่งพวกอาหารและสินค้าอื่นๆ เข้าไปยังประเทศที่ต้องพึ่งพาอาศัยสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากแห่งนี้ ดังนั้นตั้งแต่วันจันทร์ (5) จึงมีรายงานว่านักช็อปได้พากันหลั่งไหลเข้าไปกว้านซื้อข้าวของ โดยเฉพาะอาหาร ตามซูเปอรมาร์เก็ตต่างๆ โดยที่แถวรอชำระเงินของห้างแห่งหนึ่ง มีผู้ยืนคอยอยู่ราว 25 คนพร้อมกับรถเข็นซึ่งวางเต็มด้วยสินค้าตั้งแต่ข้าวไปจนถึงผ้าอ้อมเด็ก

มีรายงานด้วยว่า ธนาคารในภูมิภาคแถบนี้จำนวนหนึ่งได้เริ่มถอยห่างจากการทำธุรรมต่างๆ กับโดฮา เวลาเดียวกัน แหล่งข่าวหลายรายกล่าวว่า ธนาคารกลางของซาอุดีอาระเบียได้แนะนำแบงก์ต่างๆ ของราชอาณาจักรแห่งนี้ อย่าได้ซื้อขายเงินริยัลกาตาร์กับพวกแบงก์กาตาร์

ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ลดต่ำลง เนื่องจากความวิตกที่ว่าความแตกร้าวคราวนี้จะบ่อนทำลายความพยายามต่างๆ ขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการจำกัดลดทอนปริมาณการผลิต

อย่างไรก็ตาม โดฮายืนยันว่าจะไม่ทำการตอบโต้ อีกทั้งหวังว่าคูเวตจะช่วยเหลือคลี่คลายข้อพิพาทคราวนี้ได้

รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ บอกกับโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกาตาร์ ว่า โดฮาต้องการให้เวลาแก่ผู้ปกครองของคูเวต จะได้สามารถ “เดินหน้าและติดต่อสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ ในวิกฤตคราวนี้ และพยายามที่จะจำกัดควบคุมประเด็นปัญหานี้ (ไม่ให้บานปลายออกไปอีก)”

ทั้งนี้ เอมีร์ ชัยค์ ทามีม บิน ฮามาด อัล-ษานี ผู้ปกครองของกาตาร์ ได้สนทนาทางโทรศัพท์เมื่อคืนวันจันทร์ (5) กับเอมีร์ ชัยค์ ซาบาห์ อัล-อาหมัด อัล-จาเบอร์ อัล-ซาบาห์ ผู้ปกครองของคูเวต ซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโดฮา และเพื่อเปิดทางให้คูเวตสามารถทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้ เอมีร์ของกาตาร์จึงได้ตัดสินใจระงับการออกมากล่าวปราศรัยต่อประเทศชาติตามที่ได้วางแผนเอาไว้ รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์บอก

ตามรายงานของบีบีซีนิวส์ รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวกับอัลญาซีเราะห์ด้วยว่า ผู้ปกครองของคูเวตจะเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียในวันอังคาร (6) เพื่อเจรจาในเรื่องนี้

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวที่เป็นพวกเจ้าหน้าที่รัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียกล่าวว่า เอมีร์ของคูเวตจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ซัลมาน ของซาอุดีอาระเบีย และหารือด้วยความหวังที่จะเยียวยาแก้ไขความแตกร้าวระหว่างกาตาร์กับพวกรัฐอาหรับทรงอิทธิพล
<i>แผนที่อ่าวเปอร์เซีย (จากวิกิพีเดีย) </i>
ในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา กาตาร์ได้พยายามอาศัยความมั่งคั่งอย่างมหาศาลจากก๊าซธรรมชาติของตน ตลอดจนการมีสื่อทรงอิทธิพลอย่างอัลญะซีเราะห์ ในการผลักดันตนเองเข้าไปมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในระดับภูมิภาค ทว่าพวกชาติเพื่อนบ้านรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียและอียิปต์ กลับรู้สึกเอือมระอามานานแล้วต่อจุดยืนขวานผ่าซากไม่เกรงใจใครของกาตาร์ ตลอดจนการที่โดฮาสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งชาติเหล่านี้ถือว่าเป็นศัตรูทางการเมืองตัวฉกาจ

ในวิกฤตครั้งนี้ นอกเหนือจากคูเวตแล้ว ยังมีสหรัฐฯ, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, อิหร่าน, และอิตาลี ที่ต่างออกมาเรียกร้องให้แก้ไขคลี่คลายการทะเลาะเบาะแว้งครั้งนี้ด้วยการสนทนาหารือกัน
<i>ภาพถ่ายทางอากาศแสดงย่านสถานทูตต่างๆ ในกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2013) </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น