เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เหล่าชาติอาหรับทั้ง ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน เยเมน รวมทั้งอียิปต์ และมัลดีฟส์ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตและด้านอื่นๆ กับกาตาร์ในวันจันทร์ (5 มิ.ย.) โดยกล่าวหาว่ากรุงโดฮาให้การสนับสนุนลัทธิสุดโต่ง ตลอดจนกลุ่มต่างๆ ที่มีอิหร่านหนุนหลัง ความเคลื่อนไหวคราวนี้นับเป็นวิกฤตทางการทูตครั้งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคแถบนี้ในรอบระยะเวลาหลายๆ ปีทีเดียว
ทางด้านกาตาร์ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยความโกรธเคือง โดยปฏิเสธข้อหาที่ว่าสนับสนุนพวกสุดโต่ง และตอบโต้พวกชาติเพื่อนบ้านย่านริมอ่าวเปอร์เซียเหล่านี้ว่า กำลังพยายามหาทางทำให้กาตาร์ตกอยู่ในฐานะ “รัฐในความคุ้มครอง”
คาดหมายกันว่าวิกฤตคราวนี้จะส่งผลต่อเนื่องออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเฉพาะต่อกาตาร์และพลเมืองของประเทศร่ำรวยด้วยน้ำมันแห่งนี้เท่านั้น หากยังตลอดทั่วทั้งตะวันออกกลาง และกระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ต่างๆ ของโลกตะวันตกอีกด้วย
กาตาร์นั้นเป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพอากาศใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิบัติการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มนักรบญิฮาด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) รวมทั้งยังกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 อีกด้วย
คำประกาศจากรัฐริมอ่าวเปอร์เซียและบริเวณรอบๆ เหลานี้ บังเกิดขึ้นในเวลาไม่เพียง 1 เดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เดินทางไปยือนซาอุดีอาระเบีย และเรียกร้องให้บรรดาประเทศมุสลิมจัดตั้งแนวร่วมเพื่อต่อสู้คัดค้านลัทธิสุดโต่ง ขณะเดียวกันก็บังเกิดขึ้นภายหลังช่วงเวลาหลายสัปดาห์ของความตึงเครียดซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างกรุงโดฮากับเหล่าชาติเพื่อนบ้าน ซึ่งก็รวมถึงการที่กาตาร์กล่าวหาว่ามีการประสานงานรณรงค์ทางสื่อเพื่อเล่นงานตน ตลอดจนมีการแฮกสำนักข่าวกาตาร์ของตน
บรรดารัฐริมอ่าวเปอร์เซียและอียิปต์ต่างออกคำแถลงระบุว่า กำลังตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและปิดการติดต่อเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งกับกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาอาศัยสินค้าส่งออกต่างๆ จากชาติเพื่อนบ้านของตน
พวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซียยังสั่งห้ามพลเมืองของตนไม่ได้เดินทางไปยังกาตาร์ และออกคำสั่งให้พลเมืองกาตาร์ออกจากประเทศของพวกตนไปภายในเวลา 14 วัน
ซาอุดีอาระเบียยังประกาศปิดชายแดนที่ติดต่อกับกาตาร์ ซึ่งส่งผลเป็นการปิดกั้นอาหารและสินค้าอื่นๆ ที่ส่งออกจากทางบกไปสู่กาตาร์
สื่อท้องถิ่นในกาตาร์รายงานว่า ได้เกิดการแตกตื่นหาซื้อสินค้าขึ้นมาบ้างแล้ว เมื่อประชาชนพยายามออกกว้านซื้อกักตุนพวกอาหาร ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์กาตาร์หล่นฮวบลงมา 8% ในเวลาเปิดทำการวันจันทร์ (5) และลงท้ายก็ปิดตลาดโดยตกลงมาจากวันก่อน 7.58%
ขณะที่ทางด้านการคมนาคมทางอากาศนั้น พวกสายการบินของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ทั้ง เอมิเรตส์, เอทิฮัด, ฟลายดูไบ และแอร์ อาราเบีย ตลอดจนพวกสายการบินของซาอุดีอาระเบีย ต่างประกาศงดเที่ยวบินทั้งหมดที่เดินทางไปและกลับจากกาตาร์ตั้งแต่เช้าวันอังคาร (6) เป็นต้นไป
ส่วนอียิปต์แถลงว่า จะระงับการติดต่อเชื่อมโยงทางอากาศกับกาตาร์ตั้งแต่วันอังคาร (6) และให้เวลาเอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำกรุงไคโร 48 ชั่วโมงในการเดินทางออกไป
สำหรับ กาตาร์ แอร์เวยส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายการบินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ก็แถลงว่าได้ระงับทุกๆ เที่ยวบินที่เดินทางไปยังซาอุดีอาระเบีย โดยมีผลในทันทีอย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งสิ้นวันจันทร์ (5)
สายการบินแห่งนี้ยังทำท่าว่าจะต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วง หลังจากทางการรับผิดชอบด้านการบินพลเรือนของซาอุดีอาระเบียแถลงว่า จะปิดน่านฟ้าของประเทศไม่ให้เครื่องบินของกาตาร์ผ่าน
ซาอุดีอาระเบียระบุในคำแถลงว่า ที่ต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ เป็นผลมาจาก “การล่วงละเมิดอย่างเลวร้ายที่กระทำโดยทางการผู้มีอำนาจในกาตาร์” และกล่าวหาโดฮาว่า ให้ที่ซ่อนเร้นหลบภัยแก่ “พวกผู้ก่อการร้ายและกลุ่มมุ่งสร้างความแบ่งแยกต่างๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสั่นคลอนเสถียรภาพของภูมิภาคแถบนี้ โดยกลุ่มเหล่านี้มีอาทิเช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood), ดาเอช (ชื่อย่อในภาษาอาหรับของกลุ่มไอเอส), และ อัลกออิดะห์
ทั้งนี้ พวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซียพากันกล่าวหากาตาร์มาหลายปีแล้วว่า ให้การสนับสนุนกลุ่มสุดโต่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นองค์การอิสลามิสต์เก่าแก่ที่สุดของโลก
ริยาดยังกล่าวหาโดฮาว่าให้ความสนับสนุน “กิจกรรมต่างๆ ของผู้ก่อการร้าย” ที่หนุนหลังโดยอิหร่าน ทั้งในบริเวณเขตกอติฟ ชองซาอุดีอาระเบียซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ตลอดจนในบาห์เรน ซึ่งทั้ง 2 บริเวณนี้ต่างก็เกิดความไม่สงบของชาวชิอะห์ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้
การบ่งชี้ว่ากาตาร์กำลังหนุนหลังวาระของอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชิอะห์ และถือเป็นคู่แข่งตัวฉกาจในภูมิภาคของซาอุดีอาระเบียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ นับว่าเป็นสิ่งที่มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทรัมป์แสดงความคิดเห็นประณามอิหร่านอย่างรุนแรง ระหว่างที่เยือนกรุงริยาด
ด้านกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ที่ทำสงครามกวาดล้างกบฏนิกายชีอะห์ในเยเมนมานานกว่า 2 ปี ก็ออกมากล่าวหากาตาร์ว่า “สนับสนุนองค์กรก่อการร้ายในเยเมน” และไม่นับว่าโดฮาเป็นพันธมิตรอีกต่อไป
ที่ผ่านมา กองทัพกาตาร์ได้ส่งฝูงบินขับไล่เข้าไปช่วยพันธมิตรซาอุฯ โจมตีทางอากาศถล่มฐานที่มั่นของกบฏฮูตีในเยเมน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ก็ประณามโดฮาว่าสนับสนุน “ลัทธิก่อการร้าย” พร้อมประกาศว่าเมืองท่าและท่าอากาศยานทุกแห่งของอียิปต์จะไม่ต้อนรับเรือหรือเครื่องบินจากกาตาร์
กรุงโดฮาอ้างว่าสื่อของรัฐถูกโจมตีทางไซเบอร์ หลังจากมีผู้ปลอมแปลงคำแถลงของ เอมีร์ ชัยค์ ทามีม บิน ฮามาด อัษ-ษานี ผู้ปกครองกาตาร์คนปัจจุบัน และนำออกเผยแพร่ทางสำนักข่าวของกาตาร์เมื่อเดือนที่แล้ว
รายงานดังกล่าวอ้างว่า ผู้ปกครองกาตาร์แสดงความสงสัยเรื่องที่สหรัฐฯ ประกาศตัวเป็นศัตรูกับอิหร่าน, เอ่ยถึง “ความตึงเครียด” ระหว่างโดฮากับวอชิงตัน, แสดงความคิดเห็นเรื่องขบวนการฮามาส และยังคาดการณ์ด้วยว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะครองอำนาจอยู่ได้ไม่นาน
ถ้อยแถลงฉบับนี้ถูกปล่อยออกมาหลังจากที่ ทรัมป์ เดินทางไปเยือนซาอุฯ เป็นประเทศแรกเมื่อเดือน พ.ค. แต่กรุงโดฮาก็ยืนยันว่าคำแถลงดังกล่าวเป็นของปลอม และอ้างว่ากาตาร์ตกเป็นเหยื่อ “การโจมตีทางไซเบอร์ที่น่าละอาย”
วอชิงตันและริยาดได้ลงนามข้อตกลง “วิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์” เพื่อกระชับความร่วมมือในด้านกลาโหม เศรษฐกิจ และอื่นๆ ขณะที่ริยาดเองก็พอใจกับจุดยืนแข็งกร้าวที่ ทรัมป์ มีต่ออิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศไม้เบื่อไม้เมาที่ซาอุฯ ตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีที่แล้ว
รัฐบาลกาตาร์ไม่ได้ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.นั้นเป็นฝีมือของกลุ่มใด ทว่า ซาอุฯ และยูเออีก็สรุปแล้วว่าโดฮา “แตกแถว” จากนโยบายต่างประเทศของรัฐอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะในเรื่องอิหร่าน
แม้รัฐบาลกาตาร์จะไม่ยอมรับ แต่สื่อหลายสำนักในตะวันออกกลางยืนยันว่า ถ้อยแถลงจากเอมีร์แห่งกาตาร์นั้นเป็น “ของจริง”
หนังสือพิมพ์ซาอุฯ ฉบับหนึ่งรายงานด้วยว่า สมาชิกในตระกูล อัล ชัยค์ ของซาอุฯ เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อมัสยิด ชัยค์ มูฮัมหมัด อิบนิ อับดุลวะฮาบ ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดของกาตาร์ โดยกล่าวหาว่าราชวงศ์กาตาร์ทึกทักเอาเองว่าสืบเชื้อสายมาจาก อิหม่าม อับดุลวะฮาบ หนึ่งในผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรซาอุฯ
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเกรงว่า ความขัดแย้งครั้งนี้อาจลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการณ์เหมือนเมื่อปี 2014 ซึ่งหลายประเทศในอ่าวอาหรับได้เรียกทูตกลับจากโดฮา เนื่องจากเชื่อว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
กาตาร์นั้นปฏิเสธตลอดมาว่าไม่ได้ให้ความสนับสนุนใดๆ แก่พวกสุดโต่งหรือแก่อิหร่าน และก็กระทำเช่นนี้อีกภายหลังความเคลื่อนไหวของพวกประเทศเพื่อนบ้านในวันจันทร์ (5)
“มาตรการต่างๆ เหล่านี้ (ของพวกชาติเพื่อนบ้าน) ไม่มีความชอบธรรม และอิงอยู่บนข้ออ้างต่างๆ ที่ทั้งผิดพลาดและไม่มีมูลความจริง” กระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ระบุในคำแถลง
“จุดมุ่งหมาย (ของพวกชาติเพื่อนบ้าน) นั้นชัดเจน นั่นก็คือเพื่อทำให้รัฐแห่งนี้กลายเป็นรัฐในความคุ้มครอง (Guardianship)” คำแถลงบอก และกล่าวว่า ทางการผู้รับผิดชอบของกาตาร์จะ “ดำเนินมาตรการที่จำเป็นทุกๆ อย่าง … เพื่อขัดจวางความพยายาที่จะสร้างผลกระทบกระเทือนหรือที่จะสร้างอันตรายต่อสังคมและเศรษฐกิจของกาตาร์”