xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : อาหรับระส่ำ! พันธมิตรซาอุฯ รุมโดดเดี่ยว “กาตาร์” จวกเป็นรัฐหนุน “ก่อการร้าย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครื่องบินของสายการบิน กาตาร์ แอร์เวย์ส ขณะกำลังลงจอดที่สนามบินนานาชาติลอสแองเจลิส (แฟ้มภาพ)
นับเป็นวิกฤตความขัดแย้งครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง เมื่อมหาอำนาจริมอ่าวเปอร์เซียอย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน รวมถึงอียิปต์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ พร้อมปิดช่องทางคมนาคม ทั้งทางบก ทะเล และอากาศ จนสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกอาหรับ ขณะที่คูเวตและผู้นำสหรัฐฯ รับอาสาเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยหวั่นสถานการณ์ลุกลามหนัก

วิกฤตการทูตครั้งนี้สืบเนื่องมาจากทั้ง 4 ชาติ เชื่อว่า กาตาร์ให้ทุนสนับสนุนพวกหัวรุนแรงสุดโต่งอย่างภราดรภาพมุสลิม, รัฐอิสลาม (ไอเอส), อัลกออิดะห์ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธที่ฝักใฝ่อิหร่าน ซึ่งต่อมาไม่นาน เยเมน, มัลดีฟส์ และรัฐบาลทางตะวันออกของลิเบีย ที่นานาชาติให้การรับรอง ก็ได้เรียกทูตกลับจากโดฮา และปิดการคมนาคมเชื่อมต่อกับกาตาร์เช่นกัน

ซาอุฯ ยูเออี และ บาห์เรน สั่งห้ามพลเมืองของตนเดินทางไปกาตาร์ และประกาศปิดน่านฟ้าไม่ให้เครื่องบินของกาตาร์ผ่าน ส่วนพลเมืองกาตาร์ก็ถูกสั่งให้เดินทางออกจากทั้ง 3 ประเทศ ภายในเวลา 2 สัปดาห์

อาเดล อัล-ญุเบร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ ยืนยันในวันพุธ (7) ว่า ซาอุดีอาระเบียยังเห็นว่า กาตาร์เป็น “รัฐพี่น้อง” และบทลงโทษทั้งหมดเกิดจากความหวังดีของริยาดที่ต้องการเห็นกาตาร์ปรับเปลี่ยนนโยบายและเลิกสนับสนุนพวกสุดโต่ง

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ ชัยค์ ทามีม บิน ฮามาด อัษ-ษานี เจ้าผู้ปกครองกาตาร์เมื่อวันอังคาร (6) โดยย้ำว่า มอสโกปรารถนาให้ทุกฝ่ายแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีทางการทูต ซึ่งท่าทีของ ปูติน ออกจะสวนทางกับผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่เพียงประกาศหนุนหลังรัฐอ่าวอาหรับเต็มสูบเท่านั้น แต่ยังคุยโวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ผลงาน” ของตนเองเสียอีกด้วย

ทรัมป์ ได้โพสต์ทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (6) ว่า ทริปเยือนตะวันออกกลางของเขา “เริ่มผลิดอกออกผล” และอ้างว่าคำพูดต่อต้านอิสลามิสต์ของตนที่กรุงริยาดเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มชาติอาหรับตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ เพื่อประท้วงที่รัฐแห่งนี้สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย
(จากซ้ายไปขวา) ชัยค์ ทามีม บิน ฮามาด อัษ-ษานี ผู้ปกครองกาตาร์, ประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี แห่งอียิปต์, สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย, ชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน รอชีด อัล-มักตูม นายกรัฐมนตรีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และผู้ปกครองดูไบ และสมเด็จพระราชาธิบดี ฮามาด บิน อิสซา อัล-คอลีฟา แห่งบาห์เรน
ระหว่างปราศรัยที่กรุงริยาดเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ทรัมป์ประณามอิหร่านว่าเป็นตัวการทำให้ตะวันออกกลางขาดเสถียรภาพ และเรียกร้องให้ชาติมุสลิมแสดงบทบาทผู้นำต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรง ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่วัน ปรากฏว่า อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และ ยูเออี ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์สำนักข่าวของกาตาร์ รวมถึงสถานีโทรทัศน์อัลญาซีเราะห์ด้วย

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อเมริกันส่วนใหญ่ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ซาอุฯ กับกาตาร์รอมชอมกันให้ได้ เนื่องจากกาตาร์เป็นพันธมิตรที่มีความสำคัญทางทหารและการทูตเกินกว่าจะถูกโดดเดี่ยว โดยปัจจุบันมีทหารอเมริกันราว 8,000 นาย ประจำการอยู่ที่ฐานทัพ อัล-อูเดอิด (Al Udeid) ในกาตาร์ ซึ่งเป็นฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และเป็นจุดตั้งต้นในการส่งเครื่องบินออกไปโจมตีกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย

รัฐบาลกาตาร์ปฏิเสธข้อครหาเรื่องการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย พร้อมยืนยันว่า สำนักข่าวแห่งชาติถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ ซึ่งปลอมแปลงคำแถลงของผู้ปกครองกาตาร์ให้ดูเหมือนว่าพระองค์เป็นมิตรกับอิสราเอล, ลังเลสงสัยเรื่องที่สหรัฐฯ เป็นศัตรูกับอิหร่าน, เอ่ยถึงความตึงเครียดระหว่างโดฮากับวอชิงตัน และยังคาดการณ์ด้วยว่าประธานาธิบดี ทรัมป์ จะครองอำนาจอยู่ได้ไม่นาน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ซาอุฯ และยูเออีเชื่อว่าโดฮากำลัง “แตกแถว” จากนโยบายต่างประเทศของรัฐอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะในเรื่องอิหร่าน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่า “รัสเซีย” อาจอยู่เบื้องหลังการแพร่ข่าวเท็จที่ทำให้ชาติอาหรับแตกคอกัน ซึ่งต่อมา อันเดร ครุตสคิก ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงไซเบอร์ของเครมลิน ได้ตอบโต้ผ่านสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมด “ไร้หลักฐาน” และเป็นการสรุปเอาเองโดยไม่มีการตรวจสอบ

การสัญจรทางอากาศในภูมิภาคตะวันออกกลางเริ่มเผชิญความปั่นป่วนยุ่งยากทันที หลังจากที่ซาอุฯ ยกเลิกใบอนุญาตที่ออกให้แก่สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ส และสั่งห้ามสายการบินของกาตาร์ผ่านเข้าน่านฟ้า ขณะที่สายการบินเอทิฮัดของอาบูดาบี และเอมิเรตส์แอร์ไลน์สของดูไบ ก็ได้ระงับเที่ยวบินไป-กลับโดฮาทั้งหมดตั้งแต่วันอังคาร (6)

ด้าน กาตาร์แอร์เวย์ส ก็ประกาศระงับทุกเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี, บาห์เรน และอียิปต์

ท่าอากาศยานนานาชาติฮามาดในกรุงโดฮา ซึ่งรองรับผู้โดยสารถึง 9.8 ล้านคนในช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. ที่ผ่านมา แทบจะกลายเป็นสนามบินร้าง หลังเที่ยวบินกว่า 30 เที่ยวถูกยกเลิกเมื่อวันอังคาร (6) ขณะที่ชาวกาตาร์แห่กักตุนสินค้าด้วยความกลัวว่าอาหารจะขาดแคลน เนื่องจากกาตาร์มีพรมแดนทางบกติดกับซาอุฯ เท่านั้น และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากประเทศต่างๆ ในอ่าวอาหรับผ่านทางซาอุดีอาระเบีย
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียทรงโอบกอดทักทาย เอมีร์ ชัยค์ ซาบาห์ อัล-อะหมัด อัล-จาเบอร์ อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ปกครองคูเวต ที่นครเจดดาห์ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.
ปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อแรงงานต่างชาติในกาตาร์ ซึ่งคิดเป็นจำนวนกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด 2.5 ล้านคน โดยล่าสุดฟิลิปปินส์ได้ประกาศห้ามพลเมืองเดินทางไปทำงานในกาตาร์ชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าสถานการณ์จะลุกลามบานปลาย

รัฐบาลยูเออีได้ออกกฎห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ หรือเผยแพร่ข้อความที่มีเนื้อหาแสดงความเห็นอกเห็นใจกาตาร์ โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และถูกปรับขั้นต่ำ 500,000 ดิรฮัม หรือเกือบ 5 ล้านบาท

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษวิเคราะห์ที่มาที่ไปของวิกฤตการทูตครั้งนี้ว่าเกิดจากความไม่พอใจที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน โดยปมปัญหาสำคัญก็คือสายสัมพันธ์ระหว่างโดฮากับกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงและอิหร่าน ว่ากันว่า พวกเศรษฐีบางคนในกาตาร์ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลกาตาร์เอง ได้สนับสนุนทั้งเงินทองและอาวุธให้แก่พวกอิสลามิสต์สายสุดโต่งในซีเรีย และมีรายงานจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า รัฐริมอ่าวเปอร์เซียไม่พอใจที่กาตาร์ยอมจ่ายเงินค่าไถ่ราว 1,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่พวกนักรบญิฮาดและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอิหร่าน หลังมีพลเมืองกาตาร์จำนวนหนึ่งถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ในอิรักและซีเรีย

ชัยค์ ซาบาห์ อัล-อะหมัด อัล-ซาบาห์ ผู้ปกครองคูเวต ได้อาสายื่นมือเข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยเดินทางไปยังนครเจดดาห์เมื่อวันอังคาร (6) เพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุฯ ก่อนจะเดินสายต่อไปที่ดูไบในวันพุธ (7) เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายยูเออี

ด้าน ประธานาธิบดี ทรัมป์ ซึ่งเคยเชียร์ให้ซาอุฯ โดดเดี่ยวกาตาร์ก็เปลี่ยนมาเล่นบทพระเอกในวันพุธ (7) ด้วยการโทรศัพท์ไปเสนอตัวกับผู้ปกครองกาตาร์ขอเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกแรงหนึ่ง พร้อมระบุว่าจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือที่ทำเนียบขาวหากมีความจำเป็น

กำลังโหลดความคิดเห็น