เอเอฟพี - ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตและยุติความร่วมมือทางทหารกับกาตาร์ในวันนี้ (5 มิ.ย.) โดยอ้างว่ากรุงโดฮาให้การสนับสนุน “ลัทธิก่อการร้าย”
คำประกาศจาก 3 รัฐอ่าวอาหรับและอียิปต์ได้ก่อวิกฤตการทูตครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เพิ่งจะเดินทางไปกระชับสัมพันธ์กับริยาดเมื่อไม่ถึง 1 เดือนที่ผ่านมา
สำนักข่าวเอสพีเอซึ่งเป็นสื่อของทางการซาอุฯ รายงานว่า รัฐบาลได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและสั่งปิดพรมแดนที่ติดกับกาตาร์ “เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติจากอันตรายของลัทธิก่อการร้าย และแนวคิดสุดโต่ง”
เอสพีเอได้อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ซึ่งระบุว่า ริยาดตัดสินใจ “ตัดขาดความสัมพันธ์ด้านการทูตและกงสุลกับกาตาร์ และจะปิดพรมแดนทั้งทางบก ทะเล และอากาศ” ซึ่งมาตรการอันเด็ดเดี่ยวนี้เป็นผลมาจากการที่กาตาร์ “ได้กระทำการล่วงละเมิดอย่างร้ายแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมา”
ผู้เดินทางชาวซาอุฯ รวมถึงคนที่ทำงานในต่างแดนมักจะใช้กาตาร์เป็นจุดเชื่อมต่อเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรแห่งนี้
ด้านกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ที่ทำสงครามกวาดล้างกบฏนิกายชีอะห์ในเยเมนมานานกว่า 2 ปี ก็ออกมากล่าวหากาตาร์ว่า “สนับสนุนองค์กรก่อการร้ายในเยเมน” และไม่นับว่าโดฮาเป็นพันธมิตรอีกต่อไป
ที่ผ่านมา กองทัพกาตาร์ได้ส่งฝูงบินขับไล่เข้าไปช่วยพันธมิตรซาอุฯ โจมตีทางอากาศถล่มฐานที่มั่นของกบฏฮูตีในเยเมน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ก็ประณามโดฮาว่าสนับสนุน “ลัทธิก่อการร้าย” พร้อมประกาศว่าเมืองท่าและท่าอากาศยานทุกแห่งของอียิปต์จะไม่ต้อนรับเรือหรือเครื่องบินจากกาตาร์
กรุงโดฮาอ้างว่าสื่อของรัฐถูกโจมตีทางไซเบอร์ หลังจากมีผู้ปลอมแปลงคำแถลงของ เอมีร์ ชัยค์ ทามีม บิน ฮามาด อัษ-ษานี ผู้ปกครองกาตาร์คนปัจจุบัน และนำออกเผยแพร่ทางสำนักข่าวของกาตาร์เมื่อเดือนที่แล้ว
รายงานดังกล่าวอ้างว่า ผู้ปกครองกาตาร์แสดงความสงสัยเรื่องที่สหรัฐฯ ประกาศตัวเป็นศัตรูกับอิหร่าน, เอ่ยถึง “ความตึงเครียด” ระหว่างโดฮากับวอชิงตัน, แสดงความคิดเห็นเรื่องขบวนการฮามาส และยังคาดการณ์ด้วยว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะครองอำนาจอยู่ได้ไม่นาน
ถ้อยแถลงฉบับนี้ถูกปล่อยออกมาหลังจากที่ ทรัมป์ เดินทางไปเยือนซาอุฯ เป็นประเทศแรกเมื่อเดือน พ.ค. แต่กรุงโดฮาก็ยืนยันว่าคำแถลงดังกล่าวเป็นของปลอม และอ้างว่ากาตาร์ตกเป็นเหยื่อ “การโจมตีทางไซเบอร์ที่น่าละอาย”
วอชิงตันและริยาดได้ลงนามข้อตกลง “วิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์” เพื่อกระชับความร่วมมือในด้านกลาโหม เศรษฐกิจ และอื่นๆ ขณะที่ริยาดเองก็พอใจกับจุดยืนแข็งกร้าวที่ ทรัมป์ มีต่ออิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศไม้เบื่อไม้เมาที่ซาอุฯ ตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีที่แล้ว
รัฐบาลกาตาร์ไม่ได้ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.นั้นเป็นฝีมือของกลุ่มใด ทว่า ซาอุฯ และยูเออีก็สรุปแล้วว่าโดฮา “แตกแถว” จากนโยบายต่างประเทศของรัฐอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะในเรื่องอิหร่าน
แม้รัฐบาลกาตาร์จะไม่ยอมรับ แต่สื่อหลายสำนักในตะวันออกกลางยืนยันว่า ถ้อยแถลงจากเอมีร์แห่งกาตาร์นั้นเป็น “ของจริง”
หนังสือพิมพ์ซาอุฯ ฉบับหนึ่งรายงานด้วยว่า สมาชิกในตระกูล อัล ชัยค์ ของซาอุฯ เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อมัสยิด ชัยค์ มูฮัมหมัด อิบนิ อับดุลวะฮาบ ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดของกาตาร์ โดยกล่าวหาว่าราชวงศ์กาตาร์ทึกทักเอาเองว่าสืบเชื้อสายมาจาก อิหม่าม อับดุลวะฮาบ หนึ่งในผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรซาอุฯ
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเกรงว่า ความขัดแย้งครั้งนี้อาจลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการณ์เหมือนเมื่อปี 2014 ซึ่งหลายประเทศในอ่าวอาหรับได้เรียกทูตกลับจากโดฮา เนื่องจากเชื่อว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)