xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ G20 พร้อมใจตัดหางอเมริกา ชี้จุดยืนแหกคอกเรื่องปัญหาโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ – เหล่าผู้นำประเทศแถวหน้าพร้อมใจตัดหางปล่อยอเมริกาออกจากนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน โดยแถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม G20 แสดงถึงความแตกแยกในด้านความร่วมมือต่างๆ อย่างชัดเจนแบบที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ส่วนการพบกันครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียกับประมุขทำเนียบขาวนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น โดยทรัมป์ไม่ติดใจเรื่องที่มีการกล่าวหารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ หลังได้ฟังคำยืนยันจากปูติน แถมส่งสัญญาณว่า ต้องการโฟกัสความสัมพันธ์ในอนาคตเท่านั้น

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ที่กระตือรือร้นโชว์ทักษะผู้ไกล่เกลี่ยก่อนที่เยอรมนีจะมีการเลือกตั้งใหญ่เพียง 2 เดือนนั้น บรรลุเป้าหมายหลักในการประชุมสุดยอด 20 ประเทศชั้นนำ (จี20) ที่ฮัมบูร์ก ด้วยการโน้มน้าวให้ผู้นำชาติต่างๆ สนับสนุนแถลงการณ์ร่วมเพียงฉบับเดียวที่ส่งเสริมการค้า การเงิน พลังงาน และแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกระหว่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจากคำขวัญ “อเมริกาต้องมาก่อน” กับผู้นำอีก 19 ชาติ ปรากฏอย่างชัดเจน หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อนที่นานาชาติร่วมลงนามกันมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนที่ปารีส

แมร์เคิลให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังปิดประชุมผู้นำ G20 เมื่อวันเสาร์ (8 ก.ค.) ว่าในที่สุดแล้ว การเจรจาเรื่องโลกร้อนสะท้อนให้เห็นว่า สมาชิกทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับอเมริกา นอกจากนั้น การเจรจาการค้าก็มีปัญหาอย่างมากเนื่องจากจุดยืนที่เฉพาะเจาะจงของอเมริกาอีกเช่นกัน

การประชุมครั้งนี้ที่ถูกก่อกวนจากการประท้วงรุนแรงบนท้องถนน เป็นการพบกันระหว่างผู้นำที่มาจากหลากหลายภูมิภาคและภูมิหลัง อาทิ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย อาร์เจนตินา ฯลฯ ในช่วงเวลาที่ภูมิทัศน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

การที่ทรัมป์ยึดนโยบายการทูตแบบฝ่ายเดียว ทำให้เกิดสุญญากาศผู้นำโลก พันธมิตรดั้งเดิมในยุโรปขาดความมั่นใจ และเปิดกว้างให้จีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจและเพิ่มบทบาทบนเวทีโลก

ความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งปกคลุมบรรยากาศการประชุม หลังจากที่คณะบริหารของทรัมป์กดดันประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้กำราบเกาหลีเหนือ รวมทั้งยังขู่ใช้มาตรการลงโทษทางการค้ากับเหล็กกล้าแดนมังกร

ทรัมป์ยังพบประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเป็นครั้งแรก โดยประมุขเครมลินเปิดเผยหลังจบซัมมิตว่า ถูกทรัมป์ซักไซ้เรื่องที่มีการกล่าวหารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำทำเนียบขาว ระหว่างการหารือนาน 2 ชั่วโมง แต่ดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯ พึงพอใจกับคำปฏิเสธของตนว่า มอสโกไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ

นอกจากนี้ก่อนการประชุม ทรัมป์ยังกล่าวหารัสเซียบ่อนทำลายเสถียรภาพในยูเครนและซีเรีย แต่เมื่อมาเจอกันต่อหน้า ผู้นำสหรัฐฯ กลับบอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบกับปูติน แถมส่งสัญญาณผ่าน เร็กซ์ ทิลเลอสัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ว่าต้องการโฟกัสความสัมพันธ์ในอนาคตมากกว่าหมกมุ่นกับอดีต

ทิลเลอร์สันให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า การประชุมมีความสำคัญมาก และผู้นำทั้งสองมีเคมีตรงกันอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ 19 ชาติระบุว่าอเมริกาตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ทั้งยังประกาศว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว”

อเมริกายังได้สร้างเรื่องให้ถกเถียงกันอีก ด้วยการเพิ่มเติมข้อความในแถลงการณ์ว่า “จะพยายามร่วมมือกับประเทศอื่นอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยในการเข้าถึงและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสะอาดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ซึ่งขัดกับแนวคิดในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมีรายงานระบุว่า ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ถึงกับต้องพยายามเกลาภาษาของอเมริกาให้เบาลง

โธมัส เบิร์นส์ นักวิชาการจากเซ็นเตอร์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล กัฟเวอร์แนนซ์ อินโนเวชัน ชี้ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นมติเอกฉันท์ที่ตัดอเมริกาออก แต่ปัญหาก็คือ เมื่อขาดประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ข้อตกลงจะคืบหน้าได้แค่ไหน ส่วนทางด้าน เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ ระบุ แถลงการณ์นี้ฟ้องว่าทั้ง 19 ชาติยืนหยัดต่อต้านการตัดสินใจของทรัมป์ เรื่องการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส

ในส่วนการค้า ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่มีปัญหานั้น บรรดาผู้นำเห็นพ้องในการต่อสู้กับลัทธิกีดกันการค้า ซึ่งรวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และการตระหนักถึงบทบาทของเครื่องมือปกป้องการค้าที่ชอบธรรม เหล่าผู้นำ G20 ยังประกาศร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจของแอฟริกา ซึ่งเป็นโครงการสำคัญอันดับ 1 ของแมร์เคิล

ทั้งนี้ แมร์เคิลเลือกจัดประชุมในเมืองท่าอย่างฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง เพื่อส่งสัญญาณการเปิดกว้างของเยอรมนี ซึ่งรวมถึงการยอมรับการประท้วงอย่างสันติ

ทว่าตลอด 3 วันของการประชุมสุดยอด บรรดานักเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์รุนแรงกลับปล้นร้านค้า เผารถยนต์และรถบรรทุก ตำรวจได้รับบาดเจ็บกว่า 200 นาย และมีผู้ถูกจับกุม 143 คน ไม่รวมผู้ที่ถูกควบคุมตัวอีก 122 คน

หลังการประชุม แมร์เคิลได้พบกับตำรวจและกองกำลังรักษาความมั่นคง และประณาม “ความรุนแรงอย่างไม่ยั้งคิด” ของผู้ประท้วงบางส่วน นอกจากนี้ผู้นำเยอรมนียังถูกซักถามเกี่ยวกับการตัดสินใจจัดการประชุมสุดยอดในฮัมบูร์กระหว่างการแถลงข่าวปิดการประชุม


กำลังโหลดความคิดเห็น