เอเจนซีส์ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้ สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าในยุโรป, ญี่ปุ่น และ จีน ต่างกระเตื้องดีขึ้น แต่ก็เตือนด้วยว่ากระแสนโยบายการกีดกันการค้าที่กำลังคุกรุ่นและมีแนวโน้มจุดชนวนสงครามการค้า อาจทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวอย่างกว้างขวาง ต้องมีอันขุ่นมัวลง
รายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกรอบครึ่งปีของไอเอ็มเอฟฉบับล่าสุดที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (18 เม.ย.) ได้เพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็น 3.5% จากที่เคยให้ไว้ที่ 3.4% ในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกในรอบ 2 ปี สำหรับปีหน้าคาดว่า อัตราเติบโตจะอยู่ที่ 3.6%
ไอเอ็มเอฟ มองว่า พวกประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่ประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซาเรื้อรังมานาน จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าโลกที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว
มอริซ อ็อบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกอาจกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนตามที่คาดหวังกันไว้ กระนั้น ยังคงมีความเสี่ยงขาลงที่สำคัญ อาทิ ลัทธิกีดกันการค้าที่จะนำไปสู่สงครามการค้า ซึ่งทำให้แรงเหวี่ยงขาขึ้นยังไร้ความแน่นอน
ทั้งนี้ เรื่องที่สร้างความวิตกกังวลจำนวนมากทีเดียว เป็นต้นว่า การถอนห่างจากระบบการค้าแบบพหุภาคีและการต่อต้านผู้อพยพ คือ หัวใจสำคัญของแผนการนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ทว่า ประเด็นเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส ตลอดจนถึงในการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) และการประกาศจัดเลือกตั้งสุดเซอร์ไพรส์ในเดือนมิถุนายนนี้ของอังกฤษอีกด้วย
รายงานบอกว่า ประเทศกำลังพัฒนายังคงเป็นตัวผลักดันสนับสนุนการเติบโตตัวสำคัญ นำโดยจีนและอินเดีย โดยคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปีนี้จะอยู่ที่ 6.6% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่เคยคาดการณ์เมื่อต้นปีที่ 6.5% ส่วนในปีหน้าไอเอ็มเอฟคิดว่าจีนน่าจะทำได้ที่ 6.2%
สำหรับตัวเลขคาดการณ์ของอินเดียคงเดิมที่ 7.2% และ 7.7% ในปี 2018
รายงานยังระบุข่าวดีที่น่าประหลาดใจจากหลายประเทศมั่งคั่ง เช่น อังกฤษได้รับการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ในปีนี้ 0.5% เป็น 2% ถึงแม้ยังคงมีความกังวลกับผลลบจากเบร็กซิต ขณะที่จีดีพีญี่ปุ่นในปีนี้ก็ได้ปรับเพิ่มเป็น 1.2% จาก 0.8% ที่คาดไว้เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว
ส่วนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจอเมริกาคงเดิมอยู่ที่ 2.3% ในปีนี้ เทียบกับเพียง 1.6% เมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคาดหมายกันว่า ทรัมป์จะลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ
อย่างไรก็ตาม รายงานย้ำว่า แม้การเติบโตดูเหมือนเข้มแข็งขึ้นกันอย่างทั่วหน้า ทั้งในบรรดาประเทศก้าวหน้าและตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ผู้ส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ก็เริ่มได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทว่า ยังมีความเป็นไปได้แง่ลบรออยู่ อาทิ การเติบโตอย่างซบเซาเรื้อรังของผลิตภาพ และนโยบายที่อาจทำให้การค้าหดตัว ถึงแม้รายงานไม่ได้พาดพิงถึงนโยบาย “อเมริกามาที่หนึ่ง” ของทรัมป์โดยตรง
อ็อบสต์เฟลด์ ชี้ว่า แนวโน้มการกลับมาของลัทธิกีดกันการค้าที่จะนำไปสู่สงครามการค้าจะส่งผลลบต่อประเทศที่รื้อฟื้นนโยบายเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ผลิตภาพลดลง รายได้ในครัวเรือนลดลง การที่ต้องเผชิญการถูกตอบโต้ และเศรษฐกิจโลกก็จะซบเซา
ทั้งนี้ คาดว่า ประเด็นการกีดกันการค้าจะเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมเจ้าหน้าที่การเงินของไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และกลุ่มจี 20 รอบครึ่งปีในช่วงปลายสัปดาห์นี้ นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ยังเตือนว่า ผลพวงของลัทธิกีดกันการค้ากำลังจะทำให้แนวโน้มที่สดใสของเศรษฐกิจโลกขุ่นมัว
ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งระบุเอาไว้ในรายงานของไอเอ็มเอฟฉบับนี้ ยังรวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยในจังหวะเร็วเกินคาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ความเป็นไปได้ที่อเมริกาอาจมียอดขาดดุลเพิ่มขึ้นและยกเลิกกฎระเบียบทางการเงินที่ริเริ่มหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ซึ่งจะเพิ่มแนวโน้มการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในอนาคต
ความเสี่ยงที่น่าจับตายังรวมถึงการที่จีนพึ่งพิงการขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็วมากเกินไป ความต้องการซบเซาในยุโรป และปัจจัยนอกเหนือจากเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการทุจริต