ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจ 10 อาชีพเด่น - ร่วงปี 61 พบเสริมความงามมาแรง เหตุคนนิยมเป็นคนสวยหล่อ ตามด้วยอาชีพด้านไอที ที่เติบโตตามเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนอาชีพดาวร่วง ช่างไม้อันดับหนึ่ง ตามด้วยพ่อค้าคนกลาง ย้อมผ้า ขายของหน้าร้าน อาชีพเสี่ยงตกงาน นักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ผู้สื่อข่าวภาคสนาม เหตุคนหันไปดูผ่านสื่อโซเซียล ยูทูป สวนทางเด็กนิเทศฯ ที่จบเพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ 10 อาชีพเด่น - ร่วง ปี 2561 ว่า อาชีพที่มีความโดดเด่นจะอยู่ในเทรนด์กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไอที และกระแสรักสุขภาพและความงาม โดยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อาชีพเด่นอันดับ 1 ของไทยในปีหน้า คือ แพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ผิวหนังและศัลยกรรม เพราะคนเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และต้องการเป็นคนสวยหล่อกันมากขึ้น
สำหรับกลุ่มอาชีพอันดับ 2 ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์และนักพัฒนา นักวิเคราะห์ข้อมูล (ไอโอที การใช้บิ๊กดาด้า) อันดับ 3 นักการตลาดออนไลน์ รวมทั้งรีวิวเวอร์ เน็ตไอดอล อันดับ 4 นักการเงิน และนักออกแบบวิเคราะห์ระบบด้านไอที อันดับ 5 กราฟิกดีไซน์ และนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร อันดับ 6 นักวิทยาศาสตร์ด้านความงาม (คิดค้นเครื่องสำอาง) และอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อันดับ 7 ผู้ประกอบการธุรกิจ (สตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ อี-คอมเมิร์ซ) อันดับ 8 อาชีพในวงการบันเทิง (ดารา นักแสดง นักร้อง) และสถาปนิก มัณฑนากร อันดับ 9 ครูสอนพิเศษ ติวเตอร์ และอาชีพเกี่ยวกับโลจิสติกส์และการขนส่ง และอันดับ 10 นักบัญชี
ส่วนอาชีพที่ไม่โดดเด่นในปี 2561 ได้แก่ อันดับ 1 อาชีพช่างตัดไม้ ช่างไม้ไร้ฝีมือ อันดับ 2 พ่อค้าคนกลาง อันดับ 3 อาชีพย้อมผ้า อันดับ 4 บรรณารักษ์ และไปรษณีย์ด้านการส่งจดหมาย อันดับ 5 พนักงานขายสินค้าหน้าร้าน อันดับ 6 การตัดเย็บเสื้อผ้าโหล อันดับ 7 การทำรองเท้า ช่างซ่อมรองเท้า อันดับ 8 เกษตรกรและครู อาจารย์ อันดับ 9 แม่บ้านทำความสะอาด และอันดับ 10 นักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกำลังแรงงานทั้งระบบอยู่ที่ 37.2 ล้านคน และลดลงจากปี 2552 ที่มีอยู่ 38.2 ล้านคน โดยกำลังแรงงานหายไปประมาณ 1 ล้านคน หรือลดลงเฉลี่ย 1 - 2 แสนคนต่อปี จากการที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้แรงงานหายากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องมีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เพราะประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้แรงงานกลุ่มนี้อยู่
“หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องไม่สูงเกินไป และต้องอยู่ในระดับที่ทุกฝ่ายรับได้ จะไม่เป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มาแทนที่เร็วนัก เพราะหากค่าแรงสูงมากเกินไป จะเป็นตัวบีบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นกัน โดยมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมน่าจะอยู่ใน 3 - 5% หรือประมาณ 10 - 12 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า อาชีพนักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม เป็นอาชีพที่มาติดท็อปเทนที่เสี่ยงตกงานเป็นปีแรก เนื่องจากปัจจุบันคนหันไปบริโภคข่าวจากโซเชียลมีเดีย ยูทูป สื่อออนไลน์ กันมากขึ้น และคนทั่วไปก็สามารถทำตัวเป็นนักข่าวได้ โดยรายงานข่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งสวนทางกับเด็กจบใหม่จากคณะนิเทศศาสตร์ที่ยังคงมีเพิ่มขึ้น และเสี่ยงที่จะหางานได้ยาก
ส่วนอีกอาชีพที่ไม่โดดเด่น ก็คือ อาชีพครูและอาจารย์ เพราะแนวโน้มจำนวนนักเรียนจะน้อยลงจากปริมาณเด็กเกิดใหม่มีไม่มาก และคนทั่วไปมีช่องทางการเรียนรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่อาชีพพนักงานขายหน้าร้าน จะได้รับผลกระทบจากธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ทำให้เจ้าของร้านค้าหันไปขายสินค้าทางระบบออนไลน์กันมากขึ้น และผู้ประกอบการหลายรายต้องลดคนขายหน้าร้านลง