ม.หอการค้าไทยเผยคนไทยเตรียมจับจ่ายช่วงปีใหม่สูงขึ้น 48.3% ชี้เป็นการใช้จ่ายเพื่อคนอื่นมากสุด คาดเงินสะพัดรวม 1.5 แสนล้านบาท จากการทำบุญ ท่องเที่ยว และสังสรรค์
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยสำรวจวันที่ 11-20 ธันวาคม 2560 จำนวน 1,213 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า คนไทยเห็นว่าบรรยากาศเทศกาลปีใหม่ปีนี้คึกคักมากกว่าปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 48.3 ด้านการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น โดยมีการใช้จ่ายเพื่อผู้อื่นมากขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายให้กับตัวเองลดลง การใช้เงินสำหรับตนเองเฉลี่ยคนละ 21,078.86 บาท และมีแผนการใช้เงินสำหรับผู้อื่นเฉลี่ยจะอยู่ที่คนละ 5,452.27 บาท
สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ ได้แก่ เงินเดือน/รายได้ร้อยละ 52 โบนัส/รายได้พิเศษ ร้อยละ 24.1 และเงินออมร้อยละ 23 ซึ่งประเมินว่าปีใหม่นี้ทั่วประเทศจะมีเงินสะพัดรวม 132,050.09 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการสำรวจ 13 ปีนับจากที่เริ่มสำรวจในเทศกาลปีใหม่ปี 2549 และเพิ่มขึ้นจากช่วงปีใหม่ปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 2.1 โดยคนกรุงเทพฯ จะใช้จ่ายรวม 64,292.18 ล้านบาท ต่างจังหวัด 67,757.91 ล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมค่าใช้จ่ายผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ การใช้จ่ายผ่านโครงการ "รวมใจ เพิ่มสุข ช้อปสนุก ลดรับปีใหม่" ปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 159,632.20 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดรวม 150,067.58 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแยกเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายสำหรับตัวเองจะพบว่า 3 อันดับแรกที่ประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายมากสุด คือ การทำบุญ รองลงมาคือ ท่องเที่ยว และจัดเลี้ยงสังสรรค์ ส่วนการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญให้ผู้อื่นนั้น พบว่าของขวัญยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ เงินสด/เช็คของขวัญ รองลงมาคือ การรับประทานอาหาร และกระเช้าของขวัญ
ส่วนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 83.5% ยังเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่อีก 16.5% เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวประเทศในแถบเอเชียสูงสุด รองลงมาคือ ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคกลางสูงสุด รองลงมาคือจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดในภาคเหนือ โดยสถานที่ที่ประชาชนเลือกจะเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศมากสุด คือ ภูเขา รองลงมา คือ ทะเล, น้ำตก, โบราณสถาน เป็นต้น
สำหรับการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยว หากเป็นการท่องเที่ยวในประเทศจะเฉลี่ยคนละ 13,960 บาท แต่หากเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 60,135 บาท โดยแหล่งที่มาของเงินสำหรับการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ รองลงมาคือ โบนัส/รายได้พิเศษ และเงินออม ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 38% ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 1.32 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับแต่มีการสำรวจมาในรอบ 13 ปี ซึ่งแม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจะไม่สูงมากนักเพียงแค่ 2.1% เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว ทำให้ได้เริ่มเห็นการซื้อสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 61
“เรามองว่าปีนี้บรรยากาศชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 4% มีความเป็นไปได้แน่นอน เพราะมีการซื้อสินค้าในจำนวนชิ้นที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทั้งสินค้าคงทน สินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเชื่อว่าการใช้จ่ายและกำลังซื้อของประชาชนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในภายในปลายไตรมาส 2 ปีหน้า” นายธนวรรธน์กล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *