xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ดึงคืนเดินรถสีเขียว เจรจาตรง BTS เอง เซ็ง กทม.ยึกยักไม่รับหนี้หวั่นหลุดแผนปี 61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.ไม่รอ กทม. สั่งเดินหน้าบริหารเดินรถสายสีเขียวเอง เคาะผลศึกษาร่วมทุนเอกชน PPP เร่งชงคมนาคม เสนอ คจร.ทบทวนมติดึงกลับคืน หลัง กทม.ยึกยักไม่รับภาระหนี้สินและค่าลงทุน หวั่นกระทบเปิดเดินรถล่าช้า ขณะที่คาดเปิดเจรจาตรงกับ BTS ในฐานะผู้เดินรถรายเดิมให้เดินรถต่อเนื่องสีเขียวด้านใต้

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้รฟม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และรับทราบผลการศึกษาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ซึ่งได้มีการศึกษาวิเคราะห์การร่วมทุน PPP แล้ว โดยบอร์ดให้ปรับปรุงเพิ่มเติมเล็กน้อย คาดว่าจะสรุปนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ คจร.มีมติให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และให้ กทม.รับผิดชอบค่าลงทุนด้วย ซึ่งเวลาผ่านไปมากแล้วการเจรจากับ กทม.ยังเรียบร้อย ดังนั้น รฟม.จึงได้นำแผนสำรองออกมาเพราะเห็นว่าหากไม่ดำเนินการแก้ปัญหาในขณะนี้อาจทำให้การเปิดเดินรถล่าช้ากว่ากำหนดได้

โดยในการศึกษาได้วิเคราะห์รูปแบบการร่วมลงทุน จำนวนผู้โดยสาร รวมถึงข้อมูลของสัญญารถไฟฟ้าสายอื่นมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการเดินรถ เช่น สายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเหลือง เรื่องรายได้จริงที่เกิดจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในสถานีควรมีกี่เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หลักการเดินรถของสายสีเขียวจะใกล้เคียงกับสายสีน้ำเงิน คือ มีส่วนเดิมและส่วนต่อขยาย ซึ่งการลงทุนเดินรถ มี 2 แบบ คือ เจรจากับรายเดิมให้เดินรถต่อเนื่อง หรือเปิดประมูลหาผู้เดินรถซึ่งจะเป็นรูปแบบ PPP-Net Cost เพื่อลดการลงทุนภาครัฐ โดยจะมีคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เป็นผู้พิจารณา แนวทางที่เหมาะสม และนำเสนอคณะกรรมการ PPP เห็นชอบต่อไป

“ตอนนี้จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมก่อน หากเห็นชอบจะเสนอ คจร.เพื่อทบทวนมติเดิม ดึงสายสายเขียวกลับมาให้ รฟม. ซึ่งตามสถานการณ์ปัจจุบันการเดินรถสายสีเขียวใต้อาจจะต้องเจรจาตรงกับ BTS เนื่องจากขณะนี้ได้มีเดินรถแล้ว 1 สถานี จากแบริ่ง-สำโรง และยังได้มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณไปบ้างแล้ว การเดินรถต่อเนื่อง และต้นทุนจะต่ำกว่าประมูลรายใหม่เพราะ BTS สามารถใช้ต้นทุนเดินรถร่วมกับที่เดินรถอยู่ได้ ส่วนสีเขียวเหนือขณะนี้ยังก่อสร้างงานโยธาดังนั้น การเดินรถยังมีเวลาพิจารณา”

สำหรับการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ค่างานโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 21,085.47 ล้านบาท งานติดตั้งระบบเดินรถ 8,895 ล้านบาท กำหนดเปิดเดินรถเดือน ธ.ค. 2561 สายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 39,730.25 ล้านบาท และงานติดตั้งระบบเดินรถ 14,807 ล้านบาท กำหนดเปิดเดินรถเดือน ก.ค. 2563

ถอดเบาะรถไฟฟ้าไม่เวิร์ก รฟม.สั่งให้รูปแบบอื่นที่ดีกว่า

นายฤทธิกากล่าวถึงกรณีที่มีการถอดที่นั่งแถวกลางของรถไฟฟ้า MRT ออกจำนวน 1 ขบวนว่า จากการสำรวจความเห็นพบว่า แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการถอดเบาะมากกว่าประมาณ 70% แต่ก็ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่ง รฟม.มองว่าสัดส่วนที่เห็นดวยควรจะมากกว่านี้ ดังนั้นจึงให้ชะลอแผนและให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พิจารณาหาวิธีหรือรูปแบบอื่นในการเพิ่มพื้นที่หรือเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น เพิ่มราวจับ หรือปรับเป็นเก้าอี้พับได้ หากจะมีการดำเนินการอย่างไรจะต้องประเมินข้อดี-ข้อเสีย และนำเสนอแผนต่อ รฟม.ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น