คจร.อนุมัติเปิด PPP ร่วมทุนเอกชนสร้างโครงข่ายทางเชื่อมดอนเมืองโทลล์เวย์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ ระยะทาง 2.6 กม. มูลค่าลงทุน 6,220 ล้านบาท เพื่อแก้จราจร พร้อมเร่งคมนาคม-กทม.หารือคลังในการโอนหนี้สินและทรัพย์สินสายสีเขียว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของการเชื่อมโยงโครงข่ายตามโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยวงเงินลงทุนของโครงการ ประมาณ 6,220 ล้านบาท ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร แนวทางการลงทุนรูปแบบ PPP ซึ่งจะทำให้โครงข่ายถนน และทางพิเศษสามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นระบบ บรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพมหานคร เป็นการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นทางเลือกในการเดินทางโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน
โดยให้กระทรวงคมนาคมมอบหมายหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ ไปดำเนินการโครงการฯ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรมทางหลวง (ทล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กทม.และ รฟม. และเห็นชอบในหลักการให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ และลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งมอบหมายให้คมนาคม กทม. และกระทรวงการคลัง หารือในรายละเอียดร่วมกันในการลงทุน และการโอนหนี้สินและทรัพย์สินต่อไป
ส่วนความคืบหน้าแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ณ เดือนมิถุนายน 2560 ได้เร่งรัดก่อสร้าง 6 เส้นทาง ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ได้แก่ (1 สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เปิดให้บริการปี 2563 (2 สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดให้บริการเดินรถ 1 สถานี ต่อจากสถานีแบริ่งไปยังสถานีสําโรง โดยโครงการทั้งหมดจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2561 (3 สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เปิดให้บริการปี 2563 (4 สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดให้บริการปี 2563 (5 สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี รฟม.ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการแล้วเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เปิดให้บริการปี 2566 (6 สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการแล้วจำนวน 3 สถานี
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างประกวดราคา 3 เส้นทาง ระยะทาง 90.4 กิโลเมตร ได้แก่ (1 สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ลงนามในสัญญาแล้วเมื่อ 16 มิถุนายน 2560 (2 สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ลงนามในสัญญาแล้วเมื่อ 16 มิถุนายน 2560 (3 สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง อยู่ระหว่าง ร.ฟ.ท.ทบทวนจัดทำ TOR ราคากลาง
โครงการที่เตรียมเสนอ ครม.และดำเนินการในปี 2560 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 103.2 กิโลเมตร ได้แก่ (1 สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (2 สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 (3 สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กิโลเมตร (4 สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา (5 สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (6 สีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (7 สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา