รฟม.เผยอัยการเห็นชอบร่างสัญญาสัมปทานโมโนเรล “ชมพู-เหลือง” แล้ว ลุ้นชง ครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เตรียมเซ็น BTS เดินหน้าก่อสร้าง ใน พ.ค. ขณะที่สีม่วงใต้ทยอยจ่อคิว ส่วนน้ำเงินต่อไปพุทธมณฑลสาย 4 ต้องเร่งศึกษาร่วมทุนเอกชน (PPP) เคาะรูปแบบเดินรถ ประมูล/เจรจารายเดิมก่อนชง สศช.อีกรอบ ยอมรับโอนหนี้สีเขียวต่อขยายไม่คืบ กทม.ยังไม่จ่ายค่าเช่าใช้ทาง 1 สถานี
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. มีมูลค่าลงทุนรวม 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มูลค่าลงทุนรวม 51,931.15 ล้านบาท ว่า เมื่อวันที่ 20เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งร่างสัญญาของทั้ง 2 โครงการให้ รฟม.เรียบร้อยแล้ว และ รฟม.ได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งคาดว่าหากเสนอ ครม.ไม่ทันในวันนี้ (25 เม.ย.) อาจจะเสนอในสัปดาห์หน้า ซึ่งหลังจาก ครม.เห็นชอบคาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้ได้รับคัดเลือกทั้ง 2 โครงการ คือ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) (ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)) ได้ในช่วงต้นเดือนหรือกลางเดือน พ.ค.
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท ทางคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์ฯ) ได้เห็นชอบแล้ว คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้เร็วๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังเสนอแนะให้ใช้เงินกู้เอดีบีดำเนินโครงการ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารประมูลให้เอดีบีพิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจาก ครม.เห็นชอบจะเปิดประมูลได้ภายใน 2-3 เดือน และได้ตัวผู้รับจ้างในปลายปี 2560 และเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2561
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 21,120 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ให้ รฟม.จัดทำเอกสารรายงานการศึกษาการร่วมทุนเอกชน (PPP) เสนอไปพร้อมกันกับการขออนุมัติก่อสร้างโครงการ ขณะนี้ รฟม.กำลังเร่งรัดการศึกษา ซึ่งต้องรอผลศึกษาออกมาก่อนจึงจะบอกได้ว่าจะเป็น PPP แบบใด และควรประมูลหรือให้เอกชนรายเดิมเดินรถต่อเนื่อง
ส่วนสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 16.4 กม. ล่าสุด รฟม.ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลงอีก 1,800 ล้านบาท จากเดิมวงเงินรวม 111,186 ล้านบาทเหลือ 109,342 ล้านบาท โดยในส่วนของงานโยธาลดลงจาก 90,271 ล้านบาท เหลือ 88,568 ล้านบาท ซึ่งได้สรุปเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วเช่นกัน
โอนหนี้ไม่จบ สีเขียวต่อขยายค้างเติ่งรอชง ครม.
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย ส่วนเหนือ คูคต-ลำลูกกา 9.4 กม. และส่วนใต้ สมุทรปราการ-บางปู 6.75 กม.นั้น รฟม.ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.แล้ว ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องการโอนหนี้ระหว่าง รฟม.กับ กทม.ในส่วนของสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่ยังไม่เรียบร้อย ขณะที่ กทม.ได้ให้ BTS เปิดเดินรถ 1 สถานี จากสถานีแบริ่ง-สำโรงไปแล้ว โดย รฟม.คิดค่าเช่าใช้ราง 8 ล้านบาท/เดือน ซึ่งขณะนี้ กทม.ยังไม่ได้มีการตกลงจ่ายเงินให้ รฟม.แต่อย่างใด โดย กทม.ให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติงบจาก ครม.