xs
xsm
sm
md
lg

คค.หาทางแก้จราจรแยกเกษตร เชื่อมด่วน N2 กับโทลล์เวย์-จ่อปรับสีน้ำตาลเป็น BRT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาคม” เผย ครม.รับทราบเดินหน้าทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 ตามมติ คจร. เร่ง กทพ.ทบทวนการศึกษาและออกแบบ คาดชง ครม.ในสิ้นปี 60 ก่อสร้างใน 3 ปี ขณะที่โมโนเรลสีน้ำตาลหากไม่คุ้มค่าส่อปรับเป็น BRT แทน พร้อมสั่งศึกษาเชื่อม N2 กับโทลล์เวย์และด่วนศรีรัช-วงแหวน หวั่นมีปัญหากระทบพื้นที่ ม.เกษตรฯ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 เม.ย.) รับทราบมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ซึ่งอยู่ในแผนปฏิบัติการคมนาคม (Action Plan) ปี 2560 โดย กทพ.อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนการออกแบบรายละเอียด และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2560 โดยกระทรวงคมนามจะเร่งนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติและใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวมและการเชื่อมต่อ รวมถึงทางเลือกในการเชื่อมโครงข่ายทางยกระดับระหว่างวงแหวนรอบนอก กทม.ฝั่งตะวันออก และความเป็นไปได้ในการเชื่อมกับดอนเมืองโทลล์เวย์และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ฝั่งตะวันตก

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือเดิม ช่วง N1, N2 และ N3 เป็นโครงข่ายเชื่อมตั้งแต่วงแหวนตะวันตก-ตะวันออก (E-W Corridor) โดยช่วง N1 ตั้งแต่บางใหญ่-รัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน ไม่สามารถดำเนินการได้ เหลือเพียง N2 จากถนนประเสริฐมนูกิจข้ามคลองบางบัว ผ่านทางแยกถนนลาดปลาเค้า เชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) สิ้นสุดส่วนต่อขยายถนนประเสริฐมนูกิจบริเวณถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก ได้มีข้อกังวลปัญหาจราจรที่แยกเกษตร

ขณะที่เดิมเห็นว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเป็นระบบขนส่งฟีดเดอร์ที่ดีในการทดแทน เพราะตลอดแนวเส้นทางจากแคราย-บึงกุ่ม มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น สีม่วง, สีแดง, สีเขียว ดังนั้น การศึกษาจะต้องดูผลกระทบจราจรในภาพรวม นอกจากการเชื่อมต่อทางด่วน N2 กับโทลล์เวย์และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ แล้ว แนวรถไฟฟ้าสีน้ำตาลที่ขนานไปกับแนว N2 นั้นจะมีความเหมาะสม คุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ หากปริมาณผู้โดยสารยังไม่มากพอ และยังไม่คุ้มค่าในการลงทุน อาจจะกำหนดระยะเวลาในการลงทุนที่เหมาะสมหรืออาจต้องปรับรูปแบบเป็นรถ BRT เป็นต้น

นอกจากนี้ คจร.ยังมีมติเรื่องการทำ MOU มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งรับทราบความคืบหน้า มูลค่าโครงการ ขั้นตอนการโอนทรัพย์สิน หนี้สิน ซึ่ง กทม.ได้คัดค้านค่าใช้จ่าย 3 รายการ คือ ค่าจ้างที่ปรึกษาตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556, ค่าใช้จ่ายบุคลากรของ รฟม., ค่าภาษีบำรุงท้องที่ โดยให้คณะกรรมการฯ เร่งหาข้อยุติ ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้เปิดบริการเดินรถ 1 สถานี ช่วงแบริ่ง-สำโรงแล้ว โดยเร่งให้ รฟม.และ กทม.เจรจาเงื่อนไขในการใช้โครงสร้างในการเดินรถ พร้อมทั้งมอบให้ กทม. รฟม. คมนาคม และคลัง หาแนวทางในการเดินรถและลงทุนในอนาคตของสายสีเขียวเหนือ

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชันนั้น เห็นชอบตาม คจร.ที่ให้ดำเนินการในเฟสแรกก่อน โดยสิ้นสุดที่สถานีบางขุนนนท์ (ถ.จรัญสนิทวงศ์) เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนแนวเส้นทางกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-สถานีศิริราช ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยให้สถานีบางขุนนนท์เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายระหว่างสายสีส้มกับสายสีน้ำเงิน และมอบให้ รฟม.และ ร.ฟ.ท.ร่วมกันพิจารณาการใช้อัตราค่าโดยสารร่วมโดยไม่คิดค่าแรกเข้า
กำลังโหลดความคิดเห็น