xs
xsm
sm
md
lg

เตรียม MOU กดปุ่มถมดินรถไฟไทย-จีน 3.5 กม.กรมทางหลวงระดมเครื่องจักรลุยเสร็จใน 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด ร.ฟ.ท. เคาะจ้าง กรมทางหลวง สร้าง รถไฟไทย - จีน 3.5 กม. ช่วงสถานีกลางดง - ปางอโศก พร้อมประสานจีนส่งเครื่องมือช่วยตวจสอบมาตรฐานวัสดุ เร่งชง ครม. เป้าเริ่มถมดินได้ พ.ย. เสร็จใน 6 เดือน ขณะที่เบรกยาวซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน หวั่นกระทบการลงทุน 3 สนามบิน สั่งหาทางเพิ่มความจุรถ 9 ขบวนเดิม ทุกรูปแบบแก้ปัญหาแออัด

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้พิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท โดยมีมติอนุมัติให้ กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการก่อสร้าง โครงการตอนที่ 1 ช่วงสถานีกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. โดยจะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมทางหลวงต่อไป สำหรับกรอบวงเงินค่าดำเนินการช่วงแรก ประมาณ 425 ล้านบาท จะใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาให้ โดยกรมทางหลวงจะเป็นผู้เบิกจ่ายแทน

ทั้งนี้ คาดว่า จะสามารถเริ่มก่อสร้างตอนแรก 3.5 กม. ได้ประมาณเดือน พ.ย. นี้ หรืออย่างช้าในเดือนธ.ค. 60 โดยที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. และกรมทางหลวงได้หารือรายละเอียดของแบบ ระยะทาง 3.5 กม. มาอย่างใกล้ชิด ขณะที่ได้ประสานกับจีนให้เข้ามาช่วยด้านเทคนิคในเรื่องเครื่องมือทดสอบมาตรฐานวัสดุต่างๆ ในส่วนที่เป็นมาตรฐานที่ยังมีการใช้ในไทยไม่แพร่หลาย

ด้าน นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล. ได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร กำลังคน ไว้แล้วรอเพียง ร.ฟ.ท. เสนอ ครม. เพื่อรับทราบกรณีเป็นงานเร่งด่วนและให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างระยะทาง 3.5 กม. ภายใน 6 เดือน

**เบรกซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน รอ EEC เคาะลงทุนเชื่อม 3 สนามบิน

นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. ยังได้หารือถึงโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน และโครงการปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ วงเงิน 4,400 ล้านบาท โดยที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากรัฐบาลโดยคณะกรรมการ EEC มีนโยบายให้ผนวกโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไว้กับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม3 สนามบิน ดังนั้น หากตัดสินใจซื้อรถ7 ขบวน ไปก่อน อาจจะกระทบต่อการตัดสินใจลงทุน ของผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในเรื่องของความคุ้มค่าเพราะอาจต้องรับเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไปด้วย

ดังนั้น จึงให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด สำรวจศักยภาพของตัวเองภายใต้ทรัพยากรที่มี 9 ขบวนว่าจะสามารถบริหารจัดการ หรือปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของความจุในการรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นอย่างไร ในช่วง 2 - 3 ปีนี้ และหากต้องมีการลงทุนอะไรเพิ่มเติมให้นำเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท. พิจารณาตัดสินใจโดยเร็ว

ส่วนกรณีที่ ร.ฟ.ท. ได้ยกเลิกการประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ครั้งที่แล้ว ซึ่ง กิจการร่วมค้าชางชุน ซีอาร์ซีซี และ ริเวอร์ เอ็นจิเนียริง จากประเทศจีน เป็นผู้ยื่นเสนอราคารายเดียว ได้ทำหนังสือถึง ร.ฟ.ท. ขอสงวนสิทธิ์นั้น บอร์ดเห็นว่า การยกเลิกประมูลเป็นมติของบอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดที่แล้ว ซึ่งมีผลไปแล้ว อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องในศาลอีกด้วย ดังนั้น จะต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น