ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.แจงกรณีผู้ค้ารายเล็กแผงค้าตลาดนัดจตุจักรร้องเรียนเรียกเก็บค่าเช่าเพิ่ม เหตุถูก ร.ฟ.ท.ทวงถามค่าเช่าค้างชำระนานกว่า 6 ปี และบอกเลิกสัญญา ยันค่าเช่าประเมินจากค่าที่ดินและค่าใช้จ่ายรายเดือน ส่วนค่าเก็นขยะ และค่าทำความสะอาดสูงกว่า กทม.เพราะ ร.ฟ.ท.ไม่มีหน่วยจัดการเองเหมือน กทม.
จากกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ระบุว่าผู้ค้ารายเล็กแผงค้าตลาดนัดจตุจักรได้ให้ข้อมูลและมีการเรียกร้องกรณีถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการรถไฟฯ กลั่นแกล้ง สร้างความเดือดร้อน โดยมีขบวนการหาประโยชน์ในทางมิชอบ เรียกเก็บค่าเช่าที่ดินการรถไฟฯ แพงขึ้น 10 เท่ากว่าราคาเดิมที่ทาง กทม.เคยเก็บ ตลอดจนจ่ายค่ารักษาความปลอดภัย ค่าทำความสะอาด สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ กทม. บริหารตลาดนัดจตุจักรในปี 2554 จึงเรียกร้องให้นายกฯ ช่วยเหลือประชาชนผู้ค้าขายรายเล็ก และช่วยปราบเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า อัตราค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักรมีที่มาจากการคำนวณราคาประเมินที่ดิน รวมกับค่าใช้จ่ายการว่าจ้างดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัย ตลอดจนค่าใช้จ่ายดำเนินการของการรถไฟฯ โดยคณะกรรมการการรถไฟฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้มีมติกำหนดให้การรถไฟฯ ใช้เรียกเก็บมาตั้งแต่เข้ามาบริหารจัดการในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อการรถไฟฯ ต้องเข้าบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรในภาวะจำเป็นเร่งด่วนจึงต้องว่าจ้างเอกชนในการดูแลรักษาความสะอาด ตั้งแต่การทำความสะอาด จัดเก็บขยะ ขนย้ายและนำไปทำลายอย่างครบวงจร รวมถึงการจ้างเอกชนดูแลรักษาความปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 69 ไร่ เนื่องจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) หยุดดำเนินการทันทีเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่ากับการรถไฟฯ ปัจจุบันการรถไฟฯ มีค่าใช้จ่ายในส่วนของการดูแลรักษาความสะอาดเดือนละ 4.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายการรักษาความปลอดภัยเดือนละ 5.2 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่การรถไฟฯ ว่าจ้างเอกชนแตกต่างจากกรุงเทพมหานครนั้น อาจเป็นเพราะกรุงเทพมหานครมีหน่วยงานภายในที่ดำเนินการในภารกิจดังกล่าวอยู่แล้ว
สำหรับประเด็นเรื่องอำนาจการดำเนินการบริหารตลาดนัดจตุจักรนั้น ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.261/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.529/2560 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 กรณีผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรฟ้องการรถไฟฯ ในประเด็นเรื่องการเรียกเก็บค่าเช่า และอำนาจในการประกอบกิจการตลาดนัดจตุจักร ว่า การรถไฟฯ มีอำนาจในการนำที่ดินที่เป็นที่ตั้งของตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ ออกให้เช่า หรือดำเนินงานอื่นใดเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว รวมถึงการจัดทำตลาดนัดจตุจักรได้ ตามมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำภารกิจด้านบริการสาธารณะเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งให้บรรลุผล การร้องเรียนดังกล่าวเกิดจากการที่การรถไฟฯ ติดตามทวงถามค่าเช่าค้างชำระและบอกเลิกสัญญา ซึ่งสะสมมานานกว่า 6 ปี และขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการติดตามเรื่องดังกล่าวอยู่