“อาคม” เตรียมชง ครม.สัญจรอนุมัติร่างสัญญาจ้างออกแบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน พร้อมขอเพิ่มงบเวนคืนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชอีก 500 ล้าน เผยประชุมไทย-จีนครั้งที่ 20 ยังต่อรองค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงานไม่ลง ยอมรับอาจต้องเกินกรอบ 1.6 พันล้าน เหตุงานยากใช้วิศวกรเยอะ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.นี้จะติดตามความก้าวหน้าสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ (สัญญา 2.1) ได้ร่างสัญญาเสร็จแล้ว และสัญญาค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างงานโยธา (สัญญา 2.2) โดยจะนำรายละเอียดของสัญญา 2.1 เสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุม ครม.สัญจรที่โคราช ในวันที่ 21-22 ส.ค.นี้ด้วย ซึ่งนอกจากนี้จะรายงานความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามสัญญาครบ 40 ช่วงแล้ว โดยจะเสนอ ครม.สัญจรของบประมาณค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มเติมอีก 500 ล้านบาท พร้อมทั้งเสนอแผนฟื้นฟูถนนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
สำหรับรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราชนั้น ในส่วนของสัญญา 2.2 นั้นอาจจะสรุปไม่ได้ภายในการประชุมครั้งที่ 20 เนื่องจากขณะนี้ยังต่อรองราคาให้อยู่ในกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 1,649.08 ล้านบาทไม่ได้ ซึ่งให้ตรวจสอบอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถต่อรองลงได้ต่ำกว่ากรอบจะต้องมีเหตุผล ซึ่งงานควบคุมงานก่อสร้างยาก และใช้บุคลากรค่อนข้างมาก โดยเป็นวิศวกรไทย 450 คน วิศวกรจีน 50 คน
นายอาคมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ได้ลงพื้นที่บริเวณสถานีกลางดงและสถานีปางอโศก ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. ในภาพรวมไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยจะมีการปรับรัศมีความโค้งของเส้นทางในช่วงนี้ที่ค่อนข้างแคบให้กว้างขึ้นเพื่อให้รถไฟความเร็วสูงสามารถทำความเร็วได้ ซึ่งไม่กระทบต่อการเริ่มต้นไม่ทำให้ล่าช้าไปจากแผนก่อสร้างเนื่องจากในการสำรวจเริ่มต้น จีนได้ปรับโค้งไว้แล้ว และมีการปักหมุดอ้างอิงที่จะต้องขยับแนวไว้อยู่แล้ว พร้อมกันนี้จะปรับรัศมีโค้งให้กับแนวรถไฟทางคู่ด้วย ดังนั้นจะมีการรื้อแนวทางเดี่ยวเดิมออก
ทั้งนี้ สถานีกลางดงและสถานีปางอโศก รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช จะไม่จอดรับส่งเพราะเป็นสถานีเล็ก แต่ทั้ง 2 สถานีจะมีการปรับปรุงเพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยในช่วง 3.5 กม.จะมีการขยับตัวอาคารสถานีเดิมเพื่อปรับพื้นที่สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน (CY-1) ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัด ซึ่งจุดก่อสร้างสถานีบ้านกระโดนอยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 15 กม. จะมีการพัฒนาจากจุดจอดเป็นสถานี และเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า มีลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ หรือ Container Yard (CY) ของรถไฟทางคู่ เส้นทางจิระ-ขอนแก่น ซึ่งในพื้นที่ใกล้เคียงมีศูนย์กระจายสินค้าหรือ DC ของภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก จึงมอบให้ ร.ฟ.ท.บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดทำทางเข้า-ทางออก โดยให้คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าเป็นสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง ลดต้นทุน ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคทั้งภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และการท่องเที่ยว