เสนอ “นายกฯ” ออกคำสั่งตาม ม.44 ปลดล็อกปัญหารถไฟไทย-จีน เร่งเดินหน้าประมูลก่อสร้าง “อาคม” เผย มิ.ย.นี้เสนอ ครม.อนุมัติลงทุนช่วงกรุงเทพ-โคราชก่อน ด้าน “สมคิด” ลั่นปีนี้ต้องเปิดประมูลไฮสปีดกรุงเทพ-ระยอง มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านให้ได้ จ่อชงทางคู่อีก 9 เส้นทางกว่า 4 แสนล้าน เข้า ครม.ใน ก.ย. อัดเม็ดเงินอีกล็อตกระตุ้น ศก.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญด้านต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ว่าในวันที่ 13 มิ.ย.จะมีการเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาที่ทำให้โครงการรถไฟไทย-จีนล่าช้า เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้เสนอรายละเอียด
ด้านนายอาคมกล่าวว่า จะขอใช้มาตรา 44 แก้ปัญหารถไฟไทย-จีน ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องวิศวกรและสถาปนิกของจีนผู้ออกแบบโครงการที่จะต้องผ่านมาตรฐานสภาวิชาชีพของไทยแล้ว ตามกฎหมายแล้วโครงการรถไฟไทย-จีนยังมีข้อติดขัดในหลายด้านซึ่งต้องพิจารณาในคราวเดียวเพื่อให้ครบถ้วนก่อนขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษ
ส่วนการดำเนินโครงการยังเป็นไปตามขั้นตอนโดยจะเสนอ ครม.ขออนุมัติเพื่อดำเนินการในช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ภายในเดือน มิ.ย. โดยตามขั้นตอนก่อนเข้า ครม.จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สภาพัฒน์ก่อนด้วย
เร่งไฮสปีด เปิดประมูล “กรุงเทพ-ระยอง” ในปีนี้
นอกจากนี้ นายสมคิดยังระบุให้เร่งรัดโครงการเชื่อมการเดินทาง 3 สนามบิน คือ อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 194 กม. วงเงินลงทุน 152,712 ล้านบาท จะเป็นโครงการแรกที่จะต้องมีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างภายในปีนี้
ส่วนที่ญี่ปุ่นเสนอให้ขยายเส้นทางไฮสปีดจากระยอง-กรุงเทพ ไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยานั้น ไม่ได้หมายถึงจะเปลี่ยนแปลง ไฮสปีดกรุงเทพ-ระยอง ทุกอย่างยังเป็นไปตามการศึกษา ลงทุน PPP แต่มองกันว่าอาจจะนำไปผนวกกับบางโครงการเพื่อให้คุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นสนใจเชื่อมไปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเชื่อม EEC ได้เพราะที่อยุธยาทางญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมโรงงานไว้มาก ส่วนไฮสปีดสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้นเป็นโครงการที่ญี่ปุ่นสนใจอยู่แล้ว โดยแนวทางในการลงทุนคือต้องชัดเจนเรื่องความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจ
“ผลตอบแทนเส้นทางต้องวัดที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เพราะจะมีการพัฒนาพื้นที่ตามจังหวัดที่เส้นทางผ่านด้วย จะวัดที่ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ซึ่งดูเฉพาะจำนวนผู้โดยสารไม่ได้ แต่ทางญี่ปุ่นต้องการความมั่นใจที่สุดก่อน การลงทุนและโครงการจะไม่มีการซ้ำซ้อนกัน”
ส่วนรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงินประมาณ 81,136.20 ล้านบาทขณะนี้กำลังพิจารณา ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รายงานว่ารถไฟทางคู่ 5 เส้นทางที่มีการปรับปรุงทีโออาร์ใหม่จะประมูลและได้ตัวผู้ร่วมประมูลภายใน ก.ค.-ส.ค-ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม โครงการและงบลงทุนของกระทรวงคมนาคมมีความคืบหน้ามาก เบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้า และคาดว่าภายใน 1 ปีจะสามารถผลักดันได้อีกหลายโครงการ
จัดคิวรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง 4.3 แสนล้าน ชง ครม.ครบใน ส.ค.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ภายในเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้จะทยอยเสนอ ครม.ขออนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง วงเงินรวม 433,995.4 ล้านบาท ได้แก่ 2 เส้นทาง คือ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และส่วนต่อขยาย อีก 7 เส้นทาง ส่วนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หัวหิน ทางคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้ให้ทำการทดสอบความสนใจนักลงทุน (Market Sounding) และข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งเตรียมเสนอไปทางสคร. และ กก.PPP แล้ว
ส่วนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ทางญี่ปุ่นมีการเสนอให้ต่อจากกรุงเทพฯ ไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการ EEC ให้กระทรวงคมนาคมศึกษาเรื่องการเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนข้อเสนอเส้นระยอง-อยุธยานั้น แนวเส้นทางกรุงเทพ-อยุธยา เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ดังนั้น หากเห็นว่ามีประโยชน์ตามข้อเสนอญี่ปุ่น อาจจะดึงช่วงกรุงเทพ-อยุธยามาลงทุนก่อนได้ เพื่อให้เชื่อมกันที่สถานีบางซื่อ แต่ไม่ได้เป็นการรวมโครงการกัน ตรงนี้ต้องดูผลการศึกษาก่อนและรูปแบบการลงทุนด้วย เพราะไฮสปีดกรุงเทพ-เชียงใหม่ ยังคงเป็นการศึกษาตามความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น