xs
xsm
sm
md
lg

ค่าตัวแพง! จีนเรียกค่าคุมก่อสร้างไฮสปีด กรุงเทพฯ-โคราช 3.5 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เจรจาจีนสรุปค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราชที่ 3.5 พันล้าน ยอมรับเกินกรอบเดิมที่ 1.6 พันล้าน ต้องเร่งเสนอ ครม.ปรับกรอบ ตั้งเป้า “นายกฯ” เยือนจีน 4-5 ก.ย. จดปากกาเซ็นสัญญาจ้างจีน “ออกแบบ-คุมงาน” เดินหน้าตอกเข็ม 3.5 กม.ใน ต.ค.ตามแผน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 20 ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ตอนที่ 1 จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. กรอบวงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ได้สรุปกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างงานโยธา (สัญญา 2.2) ที่ 3,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.9% ของมูลค่าก่อสร้างงานโยธา 1.2 แสนล้านบาท โดยได้ให้คณะทำงานเร่งพิจารณารายละเอียดสัญญา 2.2 ให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่สัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ (สัญญา 2.1) ที่ได้ข้อสรุปไปแล้วจะเสนอร่างสัญญาขออนุมัติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โคราชในวันที่ 22 ส.ค. ส่วนสัญญา 2.2 จะต้องเสนอ ครม.ในวันที่ 29 ส.ค.นี้ โดยมีเป้าที่จะลงนามในสัญญา 2.1 และสัญญา 2.2 พร้อมกันในช่วงวันที่ 4-5 ก.ย.นี้ ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเยือนประเทศจีน

ทั้งนี้ ข้อสรุปวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างที่ 3,500 ล้านบาทถือว่าสูงกว่ากรอบ เดิม ครม.อนุมัติไว้ที่ 1,649.08 ล้านบาท ดังนั้นเสนอ ครม.ขอปรับวงเงิน และชี้แจงเหตุผล แต่ทั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อวงเงินลงทุนโครงการที่ 179,413 ล้านบาท โดยยอมรับว่าค่าควบคุมการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นค่าบุคลากรซึ่งค่าจ้างค่อนข้างสูง และต้องคุมก่อสร้างระยะทาง 253 กม. ทำงานตลอดเวลาก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งจีนเสนอใช้วิศวกรจีน 50 คน วิศวกรไทย 450 คน โดยใช้วิศวกร 4 คนต่อ 1 กม. แต่ได้เจรจาปรับลดลงตามเนื้องาน และตามระเบียบไทยที่ใช้วิศวกร 1-2 คนต่อ 1 กม. ซึ่งสัดส่วนค่าที่ปรึกษาคุมงาน 2.9% นั้นอยู่ในเกณฑ์ เนื่องจากมาตรฐานกำหนดไว้ประมาณ 3% ของค่าก่อสร้าง

“หลังจากนี้ต้องเร่งสรุปรายละเอียดสัญญา 2.2 เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. และเสนอ ครม.โดยเร็วเพื่อให้ทันกับที่ท่านนายกฯ จะไปลงนามที่จีน ส่วนกำหนดการตอกเข็มเริ่มก่อสร้างช่วงแรก ระยะทาง 3.5 กม.นั้นจะเป็นไปตามแผนภายในเดือน ต.ค.นี้” นายอาคมกล่าว

ส่วนการฝึกอบรมวิศวกรและสถาปนิกจีน ทางสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกไทยได้ตกลงกับจีนแล้ว โดยจะเริ่มการฝึกอบรมในวันที่ 22 ก.ย.นี้เป็นต้นไป โดยวิศวกรจีนจะอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งจะไปอบรมให้ที่เมืองเทียนจิน ของจีน เนื่องจากวิศวกรจีนมีจำนวนมาก ส่วนสถาปนิกจะอบรมรวม 2 ครั้ง

ขณะที่ได้สรุปเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี 11 แขนง ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง, กลุ่มเดินรถและซ่อมบำรุง, กลุ่มระบบตัวรถ, กลุ่มชิ้นส่วนและอุปกรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น