xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีฯ ทุ่ม 1.7 แสนล้านใน 5 ปี เพิ่มกำลังผลิตไฟเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ตั้งเป้าปี 66 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 1.7 แสนล้านบาท ฟุ้งปีนี้มั่นใจมีกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมาย 7,500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 7,373 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 4 โครงการ รวม 1,002 เมกะวัตต์ เผยผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไร 3,559.43 ล้านบาท โตขึ้น 51%



นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทวางเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท โดยจะเป็นเงินส่วนทุน 5หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการกู้ยืม

การเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566 เน้นลงทุนในต่างประเทศอาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว จีนและเมียนมา ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในไทยลดลงเหลือ 60% จากปัจจุบัน 70.36% และต่างประเทศจาก 29.64% เพิ่มขึ้นเป็น 40% เนื่องจากโครงการลงทุนในประเทศแล้วเสร็จ ส่วนแผนการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มคงต้องรอการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2015)

นอกจากนี้ยังศึกษาโมเดลธุรกิจโดยรุกธุรกิจสตาร์ทอัพ ต่อยอดธุรกิจเดิม โดยเน้นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพลังงานและไฟฟ้า อาทิ EV Charging และสมาร์ทกริด เป็นต้น ส่วนโครงการรับซื้อไฟฟ้าแบบSPP Hybrid Firm นั้นขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษา คงต้องพิจารณาว่าค่าไฟแบบFiT ที่อัตรา 3.66 บาท/หน่วย เหมาะสมหรือไม่

นายกิจจากล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯมั่นใจว่าจะมีกำลังการไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 7,500 เมกะวัตต์ หลังจากในครึ่งปีแรกมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 360 เมกะวัตต์จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูรวมเป็น 7,373 เมกะวัตต์จาก 3 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเหลือง กำลังผลิตเทียบเท่า 191 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานความร้อนร่วม Riau ที่อินโดนีเซีย 134.75 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ออสเตรเลียอีก 34 เมกะวัตต์ ยังคงเหลืออีก 127 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีก 4 โครงการ คือ 1 โครงการในไทย และอีก 3 โครงการในต่างประเทศ คิดเป็นกำลังผลิต 1,002 เมกะวัตต์ มีทั้งโครงการใหม่และซื้อกิจการ คาดว่าจะมีบางโครงการมีความเป็นไปได้ที่จะข้อสรุปในปีนี้

“แนวโน้มการดำเนินงานปีนี้จะมุ่งเน้นเพิ่มกำลังผลิตจากการลงทุนใหม่ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทน โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจอื่นนอกภาคพลังงานและไฟฟ้า โดยเป้าหมายการลงทุนครอบคลุมประเทศอาเซียนและจีน ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อนื่อง ขณะเดียวกันก็รักษาการเติบโตของรายได้จากการบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหงสา (1,878 เมกะวัตต์) ใน สปป.ลาว ซึ่งปีนี้กำหนดค่าความพร้อมจ่ายเทียบเท่า (Equivalent Availability Factor) ไว้ที่ประมาณ 80% นอกจากนี้ยังต้องควบคุมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 4 แห่ง กำลังผลิตรวม 517 เมกะวัตต์ให้คืบหน้าตามแผนงาน โดยโรงไฟฟ้าพลังงานลมเมาท์เอเมอรัลด์ กำลังผลิตตามการถือหุ้น 144.36 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2561” นายกิจจากล่าว

ปัจจุบันบริษัทฯ ยังมีโครงการที่สร้างอีก 4 แห่ง รวมกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 517 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้ดังนี้ คือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเมาท์เอเมอรัลด์ ในออสเตรเลีย กำลังผลิตตามการถือหุ้น 144.36 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 2561 โครงการพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ใน สปป.ลาว กำลังผลิตตามการถือหุ้น 102.5 กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ปี 2562 เช่นเดียวกับโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จังหวัดราชบุรี กำลังผลิตตามการถือหุ้น 34.73 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังผลิตตามการถือหุ้น 236 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในปี 2564

สำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้จำนวน 23,123.98 ล้านบาท หากไม่รวม ค่าเชื้อเพลิงจากบริษัทย่อย รายได้รวมมีจำนวน 7,958.88 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและสัญญาทางการเงินมีสัดส่วน 71.6% ของรายได้รวม และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้ามีสัดส่วน 24.0% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีกำไรสุทธิ 3,559.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น